กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ธ.ก.ส.ลุยสินเชื่อตาม พ.ร.บ.ใหม่ เปิดบริการธนาคารคนจนทาบชั้นกรามีนแบงก์ หวังให้ชาวบ้านทุกกลุ่มเข้าถึงบริการสินเชื่อ ชี้แค่หลักพันก็กู้ได้ แจงผลงานโครงการนำร่องพบผู้กู้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตรีที่มีวินัยด้านการจัดการดีเยี่ยม เตรียมขยายผลเพิ่มฐานลูกค้าและเพิ่มพนักงานหญิงมาทำงานด้านสินเชื่อนี้โดยตรงเพื่อสร้างการเข้าถึง พร้อมจัดงานชูบทบาทผู้หญิงพลังพัฒนาชนบทของจริงที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้ชาย 5 — 7 มีนาคมนี้
นายธีระพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ปัญหาของคนยากจนในชนบทที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง คือการขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถกู้ยืมจากธนาคารได้ ต้องอาศัยกู้ยืมจากตลาดสินเชื่อนอกระบบหรือนายทุนเงินกู้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 2 — 20 ต่อเดือน ทำให้เป็นภาระหนัก ดังนั้น เพื่อให้บริการทางการเงินในระบบของ ธ.ก.ส.ครอบคลุมไปถึงประชาชนในทุกๆ กลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนในภาคชนบทที่มิได้ทำการเกษตร ธ.ก.ส.จึงเปิดให้บริการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยหรือสินเชื่อ 108 อาชีพ แก่ผู้ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจเล็กๆ ที่เป็นของตนเอง
นายธีรพงษ์กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.ได้นำร่องโครงการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส.ที่ได้รับการแก้ไขใหม่ ซึ่งปรากฏว่ามีลูกค้าที่ประสงค์จะใช้บริการสินเชื่อดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นกลุ่มแม่บ้านมีมากถึงร้อยละ 65 โดยส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนประกอบกิจการแปรรูปอาหารขนาดเล็ก ขายอาหาร ช่างตัดเสื้อ ช่างเสริมสวยและค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว วงเงินขอกู้มีตั้งแต่ 3,000 บาท ถึง 100,000 บาทต่อราย ทั้งนี้ ลูกค้ามากกว่าครึ่งหนึ่งใช้บุคคลค้ำประกันแบบลูกหนี้รวม เพราะไม่มีที่ดินค้ำประกันหนี้ และที่น่าสนใจก็คือลูกค้าเหล่านี้มีวินัยทางการเงินที่ดีเยี่ยม
ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวอีกว่า เพื่อให้บริการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับบริการธนาคารคนจนของกรามีนแบงก์ ประเทศบังคลาเทศ ธ.ก.ส.จึงจัดให้มีพนักงานสินเชื่อสตรีเข้ามาดูแลลูกค้ากลุ่มดังกล่าวโดยตรง ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้มีลักษณะที่หลากหลายแตกต่างจากอาชีพเกษตรกรรรม เช่น มีรายได้เป็นรายวันหรือรายเดือน ขณะที่รายได้ภาคเกษตรเป็นรายปี จึงต้องมากำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เป็นต้น ดังนั้น ธ.ก.ส.จำเป็นที่จะต้องมีพนักงานออกไปเยี่ยมเยียนสถานประกอบการเพื่อติดตามสถานะทางธุรกิจอย่างใกล้ชิด ซึ่งในจุดนี้ผู้หญิงจะมีความละเอียดอ่อน มีทักษะในการเชื่อมโยงทั้งแนวทางการพัฒนาและความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นแม่บ้านได้ดีกว่า ขณะเดียวกันก็เป็นการแบ่งเบาภาระพนักงานสินเชื่อผู้ชายซึ่งแต่ละคนจะต้องดูแลเกษตรกรลูกค้ากลุ่มเดิมระหว่าง 500 — 700 ครัวเรือนด้วย โดยในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายนำร่องให้มีพนักงานสินเชื่อสตรีในพื้นที่ 30 สาขา เพื่อเป็นการตอกย้ำนโยบายและชูบทบาทของพนักงานผู้ชายและพนักงานผู้หญิง ที่จะเข้าไปดูแลลูกค้าซึ่งประกอบอาชีพหลากหลายในชนบทอย่างมีประสิทธิภาพ ธ.ก.ส.จึงได้จัดงาน “ชายหญิงรวมพลัง สร้างสรรค์สังคม” ในระหว่างวันที่ 5 — 7 มีนาคม 2551 ณ ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ โดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การเปิดตัวโครงการสินเชื่อ 108 อาชีพ การเสวนา การจัดทำเวทีชาวบ้าน การเดินแบบสินค้าประเภท ผ้าทอไทย และการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้ ธ.ก.ส.มุ่งมั่นที่จะสร้างบริการทางการเงินที่สามารถตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น นายธีรพงษ์กล่าว