กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ตลท.
สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โดยนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมฯ เผยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ตอบรับการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 % จะส่งผลบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ผลสำรวจนักวิเคราะห์ยังคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในอีก 4 สัปดาห์ข้างหน้า จะแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 30.8 บาทต่อดอลลาร์สรอ. ส่วนปัจจัยอื่นที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนที่สำคัญนอกเหนือจากการยกเลิกมาตรการข้างต้น ได้แก่ การเมืองในประเทศ ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ เป็นต้น คำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้ คือ เพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มอสังหาฯ กองทุนรวมอสังหาฯ ธนาคาร และพลังงาน
การสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์โดยสมาคมนักวิเคราะห์ฯ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นหลังยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ในประเด็นด้านผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นและค่าเงินบาท หมวดธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ปัจจัยอื่นที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญ รวมถึงคำแนะนำให้กับนักลงทุน โดยมีสำนักวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งไทยและบริษัทต่างชาติแสดงความเห็นรวม 20 แห่ง
จากการสำรวจความเห็น พบว่า การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 15 ไม่เห็นด้วย และอีกร้อยละ 5 ไม่มีความเห็น
โดยมีความเห็นต่อผลการยกเลิก ดังนี้ นักวิเคราะห์ร้อยละ 60 เห็นว่าการยกเลิกมาตรการดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ และจะมีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้นจากบรรยากาศการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์ร้อยละ 30 เห็นว่าไม่มีผลใด ๆ หรือมีน้อย เนื่องจากมาตรการนี้ไม่ได้ใช้กับตลาดทุนโดยตรงอยู่แล้ว และตลาดทุนอาจได้รับผลดีบ้างในส่วนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น แต่ผลที่ได้ไม่มากนัก
นักวิเคราะห์มีความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบต่อหมวดธุรกิจต่าง ๆ จากการยกเลิกมาตรการข้างต้น ดังนี้
- ผลบวก: นักวิเคราะห์ร้อยละ 50 เห็นว่าจะมีผลดีต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีการออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ อันดับที่สองที่ได้รับผลดี มีนักวิเคราะห์ตอบร้อยละ 20 คือ กลุ่มบริษัทที่มีหนี้สินต่างประเทศ ซึ่งอาจทยอยชำระคืนหนี้ได้จากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท และอันดับที่สาม คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีนักวิเคราะห์ตอบร้อยละ 15
- ผลลบ: กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลลบ ซึ่งนักวิเคราะห์ร้อยละ 75 เห็นตรงกันมากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจส่งออก อันดับที่สอง มีนักวิเคราะห์ตอบ ร้อยละ 15 คือ กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และอิเลคทรอนิคส์ เนื่องจากมีรายได้เป็นเงินดอลลาร์
นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% แล้ว ปัจจัยที่นักวิเคราะห์ให้น้ำหนักสำคัญมากเป็นอันดับแรก หรือร้อยละ 63 คือ ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ อันดับที่สอง ร้อยละ 53 คือภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ถดถอยจากปัญหาซับไพร์ม และอันดับสามที่นักวิเคราะห์ตอบร้อยละ 37 คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
นักวิเคราะห์ร้อยละ 65 ยังคาดการณ์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ใน 4 สัปดาห์ข้างหน้า จะแข็งค่าขึ้น โดยมีอัตราเฉลี่ยที่ระดับ 30.8 บาทต่อดอลลาร์สรอ. โดยมีนักวิเคราะห์เพียงร้อยละ 10 ที่ประเมินว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.9 บาทต่อดอลลาร์สรอ.
คำแนะนำที่นักวิเคราะห์มีให้กับนักลงทุนโดยสรุป คือ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงบริษัทที่มีการออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากได้รับผลดีจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศรวมทั้งโครงการลงทุนของภาครัฐ และหุ้นกลุ่มที่มีปันผลดี รวมถึงกลุ่มธนาคาร และพลังงาน แนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มส่งออก และมีนักวิเคราะห์บางรายเตือนสถานการณ์โดยรวมตลาดหุ้นว่า ยังไม่น่าไว้วางใจและอาจปรับฐานลงในระยะสั้น