กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษามีหนังสือประสานโรงเรียนสังกัด กทม. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยให้โรงเรียนจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์แสดงค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 หรือสัญญาณไฟแสดงระดับคุณภาพของอากาศภายในโรงเรียนเป็นระยะ เพื่อให้นักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ทราบถึงผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่อยู่รอบบริเวณโรงเรียน โดยดูจากเว็บไซต์สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ww.bangkokairquality.com/bma/home หรือกรมควบคุมมลพิษ air4thai.pcd.go.th หรือแอพพลิเคชั่น Air4Thai ส่วนแนวทางการประกาศปิดเรียนของโรงเรียน กทม. นั้น เป็นการบรรเทาปัญหาเบื้องต้น ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราว โดยขึ้นอยู่ในดุลพินิจของผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ สำหรับการพิจารณาให้สั่งปิดสถานศึกษาใดนั้น สามารถพิจารณาได้จากผลกระทบของมลพิษทางอากาศแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสภาพความกดอากาศต่ำ เพื่อจะได้กำหนดมาตรการแก้ไขและบรรเทาทันที โดยเฉพาะการปิดเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. จำนวน 437 แห่ง โดยจะนำข้อมูลปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ระดับที่ 3 มีค่า PM2.5 ระหว่าง 76-100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน รวมกับการคาดการณ์ของอุตุนิยมวิทยาถึงแนวโน้มปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมาเป็นปัจจัยพิจารณาปิดเรียนของโรงเรียน กทม. ทั้งนี้ในการปิดเรียนจำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอนโรงรียน กทม. ทุกแห่ง แม้บางพื้นที่ค่าฝุ่นละอองไม่เกินมาตรฐาน เนื่องจากฝุ่นละอองสามารถกระจายทั่วไปทุกพื้นที่ตามทิศทางลม และเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ