กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--กรมวิชาการเกษตร เพื่อเกษตรกร
กลางวันอากาศร้อนแดดแรง กลางคืนอากาศเย็นอุณหภูมิลดต่ำลงในช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียวให้เฝ้าระวังโรคเส้นใบเหลือง ที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช อาการเริ่มแรกจะพบใบกระเจี๊ยบเขียวด่าง เส้นใบมีสีเหลือง ยอดเหลือง ใบและยอดม้วนงอ ต้นเตี้ยแคระแกร็น ฝักมีสีเหลือง ติดฝักน้อยและฝักไม่สมบูรณ์
สำหรับในแปลงปลูกกระเจี๊ยบเขียวที่มีการระบาดของโรค ให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนแล้วนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที และกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูก โดยเฉพาะวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อไวรัสสาเหตุโรค เช่น สาบแร้งสาบกา กะเม็ง หญ้าขน ลำโพงโทงเทง และขี้กาขาว เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ กรณีพบโรค เชื้อไวรัสสาเหตุโรคพืชยังไม่มีสารป้องกันกำจัดโดยตรง แต่สามารถป้องกันการระบาดของโรคได้ด้วยการกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบที่เป็นพาหะนำโรค โดยใช้สารฆ่าแมลงบูโพรเฟซิน 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เกษตรกรเก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกกระเจี๊ยบเขียวซ้ำ ที่เดิม เกษตรกรควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของเชื้อไวรัสใกล้แปลงปลูกกระเจี๊ยบเขียว อาทิ พืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา ฟักทอง มะระ และบวบ พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วแขก พืชตระกูลมะเขือ เช่น มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว พริก และยาสูบ และพืชชนิดอื่น ได้แก่ งา กะเพราขาว ตำลึง ฝ้าย หงอนไก่ บานไม่รู้โรย และทานตะวัน จากนั้น ให้เกษตรกรเลือกใช้กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ต้านทานโรค ได้แก่ พันธุ์ OK 9701 และพันธุ์พิจิตร 1