กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตร ในพื้นที่การเกษตร ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่า จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ ไอเสียรถยนต์ในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น การประกอบโรงงานอุตสาหกรรม มลพิษจากการทำการเกษตร และหมอกควันที่เกิดจากการเผาเศษวากพืชหรือวัชพืช และวัสดุทางการเกษตร ในพื้นที่การเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ตั้งคณะทำงานฯ ดังกล่าว เพื่อบูรณาการหน่วยงานในสังกัดอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนป้องกันและเฝ้าระวังเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตร เสนอแนะมาตรการและแนวทางในการป้องกันต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแล การดำเนินงานการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าและรายงานผลการดำเนินการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบ
นายอนันต์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการ/แผนงาน เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหากาคเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2563 จำนวน 4 โครงการ/แผนงาน ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร จำนวน 2 กิจกรรม คือ การถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เป้าหมาย 16,800 ราย และการสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา เป้าหมาย 150 ตำบล และ 80 ศพก.ในพื้นที่ 42 จังหวัด จำนวน 226 แห่ง อีกทั้งยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์หยุดการเผา และได้มีการรณรงค์ไปแล้ว 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และจะดำเนินการกิจกรรมต่อเนื่องในจังหวัดนครปฐม ในวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่จะถึงนี้ 2) โครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันมอกควันในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ จำนวน2 กิจกรรม คือ การไถกลบตอซัง เป้าหมาย 70,000 ไร่ การผลิตปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน 3,645 ตัน งบประมาณการดำเนินงาน 38.994 ล้านบาท 3)โครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน 45,000 ไร่ โดยส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ป่า ไม้หายากหรือไม้ประจำถิ่น และ 4) แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศเพื่อลดความหนาแน่นของหมอกควันและไฟป่า ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ ให้เร็วขึ้น โดยจะเปิดในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ที่จะถึงนี้ จำนวน 7 ศูนย์
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัด คือ 1) ให้กรมส่งเสริมการเกษตรมอบหมายเกษตรจังหวัดบูรณาการแผนงานโครงการฯ ในพื้นที่การเกษตรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประสานการปฏิบัติการร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และมอบหมายเกษตรอำเภอ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด จัดชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ เพื่อออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุการณ์เผาในพื้นที่การเกษตร 2) ให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด รายงานผลการดำเนินการงานในพื้นที่ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบ 3) ให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อำนวยการ กำกับ ติดตาม ให้หน่วยงานในระดับจังหวัดปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง 4) ให้อธิบดีและหัวหน้าสนับสนุนการดำเนินงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ 5) ให้หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายผู้ตรวจกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และ 6) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานผลการดำเนินงานต่อปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบต่อไป
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีมติให้จัดตั้งคณะทำงานชุดเล็ก จำนวน 3 คณะ ใน 3 สินค้าเกษตร คือ ข้าว ข้าวโพด และอ้อย เพื่อหาพื้นที่เสี่ยงที่ยังมีการเผาและมีแนวโน้มที่จะมีการเผา และหามาตรการในการดำเนินในเรื่องดังกล่าว ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป