กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ ไอเสียจากรถยนต์ในเมืองใหญ่ การประกอบโรงงานอุตสาหกรรม และหมอกควันที่เกิดจากการเผาเศษซากพืช/วัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีข้อห่วงใยเรื่องนี้เช่นเดียวกัน จึงมอบหมายให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืชและวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เกษตร โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นคณะทำงาน เพื่อจัดทำแผนป้องกันและเฝ้าระวัง รวมทั้งเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการป้องกันการเผา ตลอดจนกำกับ ดูแล การดำเนินงานแก้ไขปัญหา ติดตามสถานการณ์ เพื่อมุ่งลดปัญหาฝุ่นหมอกควัน และรายงานความก้าวหน้าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบ
สำหรับแผนงาน/โครงการเพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2563 ที่เสนอเข้ามามี 4 โครงการ/แผนงาน ดังนี้
1. โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 2 กิจกรรม คือ 1) ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เป้าหมาย 16,800 ราย 2) สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาเพื่อสร้างกลไกการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร จำนวน 210 แห่ง พื้นที่ 42 จังหวัด
2. โครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันหมอกควันในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จำนวน 2 กิจกรรม คือ 1) การไถกลบตอซัง พื้นที่เป้าหมาย 70,000 ไร่ 2) การผลิตปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน 3,650 ตัน
3. โครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน 45,000 ไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ป่า ไม้หายากหรือไม้ประจำถิ่น โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.
4. แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า ด้วยปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศเพื่อลดความหนาแน่นของหมอกควันรวมทั้งเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งขณะนี้ได้มีจังหวัดรายงานสถานการณ์พื้นที่การเผา รวม 23 จังหวัด ไม่มีสถานการณ์ 43 จังหวัด
ด้านนายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งถึงผลความก้าวหน้าการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ได้ดำเนินการ มีดังนี้ 1) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่และเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ระหว่างวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จังหวัดเชียงใหม่ มีเจ้าหน้าที่จากจังหวัดเป้าหมาย 42 จังหวัด สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่เกี่ยวข้อง และศูนย์ปฏิบัติการ รวม 100 ราย 2) กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อจัดตั้งเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา รวม 226 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 108 ของเป้าหมาย (130 ตำบล + 96 ศพก.) 3) กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีหนังสือสั่งการไปยังทุกจังหวัด และทุกหน่วยงานของกรมฯ ให้ควบคุม กำกับดูแล และเข้มงวดไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด เร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผา รวมทั้งให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาตรการต่างๆ กับหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมทั้งขับเคลื่อนผ่านเวทีระดับจังหวัด ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด (อ.พ.ก.) และคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation : CoO) 4) ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งได้มีการจัดงานรณรงค์ระดับจังหวัดแล้ว 3 ครั้ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และจังหวัดเชียงราย และจังหวัดที่เหลือในกลุ่มภาคเหนือมีแผนการจัดงานรณรงค์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 5) กำหนดจัดงาน "Kick-Off รณรงค์หยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร" ในวันที่ 28 มกราคม 2563 ณ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ด้วยการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรและนำเสนอทางเลือกให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อลดการเผา ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน คืนชีวิตให้ดิน ทางเลือกที่ 2 นำเศษตอซังฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรอื่นๆ ที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูก มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทางเลือกที่ 3 นำเศษวัสดุการเกษตร มาใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น นำมาอัดก้อน หรือนำมาทำอาหารหมักเลี้ยงโค ทางเลือกที่ 4 นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงาน เป็นพลังงานทดแทน เช่น ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรืออัดก้อน ทางเลือกที่ 5 นำมาเพาะเห็ด หรือนำมาผลิตกระดาษ ทางเลือกที่ 6 คือ นำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้า ที่แห้งมาคลุมบริเวณโคนต้นพืช และทางเลือกที่ 7 นำเปลือกซังข้าวโพดหรือฟางมาทำวัสดุเพาะปลูก ขณะนี้อยู่ระหว่างการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร จำนวน 10,617 ราย คิดเป็นร้อยละ 63 ของเป้าหมาย