กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,117 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 21 - 24 มกราคม 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในปี 2558 การจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยรถจักรยานยนต์ที่นำมาใช้จะต้องจดทะเบียนถูกต้อง (ป้ายเหลือง) ผู้ขับรถ เสื้อวิน บัตรประจำตัว และรถจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกัน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์หรือการปล่อยให้เช่าเสื้อวิน ในปี 2562 ทางกรมการขนส่งทางบกได้ออกมาเตือนกรณีผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างบางรายนำเสื้อวินรถจักรยานยนต์มาปล่อยเช่าหรือขายในราคาสูง การนำรถจักรยานยนต์มาให้บริการประชาชน โดยจัดทำเสื้อวินและลักลอบพิมพ์ตัวเลขบนเสื้อกั๊ก โดยที่เสื้อวินรถจักรยานยนต์ที่ทางราชการออกให้ ไม่สามารถทำการปล่อยเช่า, ซื้อขาย, และไม่สามารถพิมพ์ตัวเลขบนเสื้อวินเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ขับรถในวินได้ หากพบการฝ่าฝืนนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาใช้รับส่งผู้โดยสารมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท การแต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศของกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท รวมไปถึงการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์ที่จอดบนทางเท้า ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 475 วิน ทางกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตไปสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงหรือจุดเหมาะสม เพื่อย้ายวินมอเตอร์ไซค์ลงจากทางเท้า และรัฐบาลมีนโยบายให้บริการรถจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมายเพิ่มความสะดวกและเป็นธรรมแก่ประชาชน เบื้องต้นคาดว่าจะมีการประกาศกฎกระทรวงฯ ในเดือน มี.ค 2563 ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้งานมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพราะเพื่อความรวดเร็วเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 41.7 อันดับที่สองคือ เพื่อความสะดวกสบาย ร้อยละ 32.7 อันดับที่สามคือลดปัญหาการหาที่จอดรถ ร้อยละ 24.2 และทราบว่ามีการจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้างของทางภาครัฐ โดยมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง เสื้อวิน บัตรประจำตัว ตรงกับผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 64.2
ในส่วนของการปรับปรุงการให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อันดับหนึ่งคือ เรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา ร้อยละ 25.6 อันดับที่สองคือ ขับรถเร็ว/ผิดกฎจราจร ร้อยละ 25.5 อันดับที่สามคือสภาพรถจักรยานยนต์/หมวกกันน็อก ร้อยละ 15.8
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยใช้บริการการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านทางโทรศัพท์ ร้อยละ 60.5 และเคยใช้บริการการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านทางแอปพลิเคชัน ร้อยละ 71.2 โดยเหตุในการบริการการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านทางแอปพลิเคชัน อันดับหนึ่งคือ สะดวก/ไม่ต้องเดิน/ไม่ต้องรอ/หาวิน ร้อยละ 40.1 อันดับที่สองคือ อัตราค่าโดยสารที่แน่นอน ร้อยละ 22.5 อันดับที่สามคือ อยากลอง / ทดลองใช้ ร้อยละ 14.8
ในส่วนของการใช้บริการการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านทางแอปพลิเคชัน อันดับหนึ่งคือ แกร็บไบค์ (GrabBike) ร้อยละ 63.7 อันดับที่สองคือ เก็ท (GET) ร้อยละ 25.6 อันดับที่สามคือ โกไบค์ (Go Bike) ร้อยละ 8.2