กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายชุมพล ชัยวัฒน์ ประธานสมาพันธ์ เอสเอ็มอีไทย ภาคกลาง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคกลาง เพื่อส่งเสริมและพัฒนา ให้ความรู้ เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ โดยมีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 12 แห่ง เข้าร่วมพิธี ณ ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (สอศ.) มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับนักเทคโนโลยี ให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ สอศ. กับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคกลาง จะร่วมกันพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ โดย สอศ.และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคกลาง จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรในการเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อีกทั้งขยายโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้าฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการที่เป็นเครือข่ายของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคกลาง รวมทั้งจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ที่ไม่อาจหาได้จากตำราหรือในห้องเรียน ซึ่งจะสอดคล้องกับการดำเนินโครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในกลุ่มผู้เรียนของ สอศ. ที่จะได้นำความรู้ด้านธุรกิจและส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน
ด้าน นายชุมพล ชัยวัฒน์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคกลาง กล่าวว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคกลาง เป็นหน่วยงานที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการ สมาคม ชมรม สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ เป็นศูนย์รวมของสมาคมการค้า และสมาคมวิชาชีพกว่า 130 องค์กร มีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้การดำเนินธุรกิจ พัฒนาเครือข่ายและความร่วมมือร่วมกับภาครัฐ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ และเป็นองค์กรที่เป็นแบบอย่างด้านธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ภาคกลาง เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการของเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในการดำเนินธุรกิจและพร้อมจะร่วมพัฒนา การจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการได้อย่างเต็มตัว
เลขาธิการ กล่าวต่อว่า การลงนามในครั้งนี้มีสถานศึกษา สังกัด สอศ. จำนวน 12 แห่ง เข้าร่วม ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล วิทยาลัยอาชีวศึกษาพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี วิทยาลัยการอาชีพบ้านแพ้ว วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม และวิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนมีส่วนในการสร้างประสบการณ์ในการทำธุรกิจทั้งในและนอกสถานศึกษา สามารถนำความรู้ และประสบการณ์ ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในการเป็นผู้ประกอบการ พร้อมสร้างอาชีพที่มีศักยภาพนำไปสู่การผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาประเทศต่อไป