กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง
กรมทางหลวง ขอเชิญเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 เพื่อการหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกดอนยาง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตามที่กรมทางหลวง โดย สำนักสำรวจและออกแบบ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท พีทีอี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินงานศึกษาโครงการสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 43 (แยกดอนยาง) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี นั้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชน เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินโครงการดังกล่าว
โดยการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษา ได้แก่ ผลการศึกษาด้านวิศวกรรม และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเบื้องต้นให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบ พร้อมเสนอมาตรการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลจากประชาชนในพื้นที่เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงผลศึกษาให้มีความครบถ้วน สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชน
กรมทางหลวง จึงขอเรียนเชิญพี่น้องประชาชนรวมในพื้นที่เทศบาลตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 ในวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม เทศบาลตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยสอบถามรายละเอียดติดต่อ ฝ่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน บริษัท พีทีอี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร. 02-941-9925 หรือ สายด่วน 064-630 5477
สำหรับโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 43 (แยกดอนยาง) จังหวัดปัตตานี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณทางแยกดังกล่าว และที่สำคัญในปี 2562 กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง ได้ให้การสนับสนุน และขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ดังกล่าว เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบครบวงจรของภาคใต้ตอนล่าง ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชาดแดนภาคใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแนวทางการศึกษาของโครงการ คือ การสำรวจและวิเคราะห์ทางวิศวกรรม/สิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด และการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำข้อคิดเห็นมาประกอบในการพิจารณาออกแบบโครงการได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชน