ช.การช่าง จับมือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมอบรางวัล “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” เผย 10 ผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ไอเดียสุดล้ำ พร้อมต่อยอดจากท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday January 28, 2020 13:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--โอกิลวี่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่นจัดพิธีมอบรางวัล"สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน" พร้อมเปิดตัว 10 ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน เพื่อรับทุนพัฒนาสิ่งประดิษฐ์มูลค่ารวมกว่า 600,000 บาท พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและโอกาสขอรับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเวิร์ค ช็อปการพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมช่างชุมชน แบบ 4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด) เพื่อยกระดับศักยภาพสู่การเป็น "นวัตกรช่างชุมชน" และขยายผลสู่ระดับประเทศ นับเป็นโครงการความร่วมมือครั้งแรกของประเทศไทยระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมช่างชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร บนแนวคิดของการแก้ไขปัญหาทางสังคมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยนำเอาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ของช่างชุมชนมาต่อยอด ผ่านการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและโอกาสเข้าถึงทรัพยากรในด้านต่างๆ ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคนิคทางวิศวกรรม การบริหารจัดการธุรกิจ และการเชื่อมโยงความร่วมมือเพื่อพัฒนานวัตกรรม กับหน่วยงานภาครัฐ ดร. สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ช.การช่าง มีความภูมิใจที่ได้เห็นการดำเนิน "โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน" ร่วมกับพันธมิตรอย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ได้เดินหน้าอย่างแข็งแกร่งมาจนถึงวันนี้ ซึ่งเราได้เห็นผลงานต่าง ๆ จากความคิดสร้างสรรค์และความสามารถคนไทยในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีทั้งศักยภาพ และมีโอกาสที่จะนำมาต่อยอด ขยายขีดสามารถจากการใช้แก้ปัญหาของพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น เราพร้อมอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเงินทุนและการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมให้แก่ช่างชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่ก่อให้เกิดคุณค่าต่อสังคม ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับพันธกิจของ ช. การช่าง ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและพัฒนาประเทศผ่าน โครงสร้างพื้นฐานและการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก และมีความมุ่งมั่นเดินหน้าสานต่อโครงการดี ๆ แบบนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต" ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ NIA กล่าวว่า "การจัด 'โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน' เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยในท้องถิ่นทั่วประเทศล้วนมีทักษะในด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่มีศักยภาพ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้ ด้วยจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนมาก หลายผลงานมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในท้องถิ่นเช่นเครื่องจักรกลเกษตร ระบบชลประทานการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่หาได้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อนำไปใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น กลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยในวงกว้างหากมีโอกาสได้เข้าถึงการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งในด้านทรัพยากร องค์ความรู้ และแหล่งทุนอย่างเป็นรูปธรรม" สำหรับผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกทั้ง 10 ทีม ประกอบด้วย เครื่องเจาะดินนิวบอร์น, เรือรดน้ำอัตโนมัติ, จักรยานปีนต้นมะพร้าว, เครื่องอูดยุง, รถไถนั่งขับอีลุย, ตะบันน้ำถังแก๊ส, กาลักน้ำประปาภูเขา, เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์, เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก และของเล่นไม้กลไกเคลื่อนไหว โดยทั้ง 10 ทีมจะได้รับเงินทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาผลงานในเบื้องต้น พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมอบรมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ก่อนที่จะมีการคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด3 ผลงานเพื่อเข้ารอบสุดท้ายซึ่งจะได้เงินรางวัลสำหรับเป็นทุนในการพัฒนาผลงาน รางวัลละ 100,000 บาท พร้อมโอกาสในการรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ เทคนิคทางวิศวกรรม และการจัดการธุรกิจนวัตกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลงานดังกล่าวให้เป็นเลิศทั้งในด้านประโยชน์ ประสิทธิภาพประสิทธิผลในการใช้งาน โครงสร้าง คุณสมบัติรูปลักษณ์ ความสะดวกในการใช้งานการบำรุงรักษา ฯลฯ จนได้เป็นนวัตกรรมต้นแบบที่สามารถเผยแพร่ใช้งานในวงกว้างเพื่อตอบโจทย์ปัญหาชุมชนและสังคมในบริบทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง 10 ทีมที่เข้ารอบจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปการพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมช่างชุมชน แบบ 4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด) ซึ่งแบ่งออกเป็น 1) การนำเสนอนวัตกรรมช่างชุมชน จากความตั้งใจสู่การปฏิบัติของแต่ละนวัตกร 2) กิจกรรมเรียนรู้จากแรงบันดาลใจนวัตกรรมช่างชุมชนระดับโลก 3) กิจกรรมร่วมกันวิเคราะห์จาก 4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด) 4) สรุปปัญหา โอกาส และแผนเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของแต่ละชิ้นงาน และ 5) เรียนรู้โอกาสการต่อยอดนวัตกรรม และแนวทางการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น NIA และITAP สุดท้าย จะเป็นช่วงวันสำหรับการเข้าพบที่ปรึกษา โดยจะมีทีมวิศวกรอาสาจาก ช.การช่าง เป็นที่ปรึกษา ด้านวิศวกรรม อาจารย์จากภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ และนักวางแผนธุรกิจและการเงินจากสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น เป็นที่ปรึกษา ด้านต้นทุนราคาและการจัดการและการตลาด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ