กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานขณะนี้มี 34 จังหวัด ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งแล้ว เบื้องต้นได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2551 ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันฯ และระดับจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ อีกทั้งได้กำหนด 5 มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมประสานหน่วยงานในสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจังหวัดเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ตลอดจนให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และกำลังคน แก่จังหวัดที่ประสบภัยแล้ง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เดือนมีนาคมจัดอยู่ในช่วงฤดูร้อน ทำให้หลายพื้นที่มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด เป็นเหตุให้ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค — บริโภค และเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะนอกเขตพื้นที่ชลประทาน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและสำรวจไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวม 34 จังหวัด 201 อำเภอ 1,121 ตำบล 6,725 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดแพร่ น่าน เชียงราย อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ลำปาง ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย ศรีสะเกษ ขอนแก่น เลย บุรีรัมย์ นครพนม อุดรธานี มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี มุกดาหาร หนองบัวลำภู สระบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ระยอง ตราด นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และระนอง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 2,740,344 คน 717,650 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 164,261 ไร่ แยกเป็น พื้นที่นา 125,302 ไร่ พื้นที่ไร่ 37,384 ไร่ พื้นที่สวน 1,575 ไร่ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กรมป้องกันฯ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2551 ณ กรมป้องกันฯ ขึ้น พร้อมทั้งได้ประสานให้จังหวัด อำเภอ และกิ่งอำเภอจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง กรมป้องกันฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งจังหวัด / อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างทำนบ / ฝายเก็บกักน้ำ (ชั่วคราว) 2,968 แห่ง จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร โดยใช้รถบรรทุกน้ำ รวมจำนวน 1,626,000 ลิตร พร้อมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพื่อการเพาะปลูก จำนวน 477 เครื่อง และขุดลอกแหล่งน้ำ 182 แห่ง รวมทั้งได้แจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภค — บริโภค จำนวน 49,931,660 ลิตร รวมใช้งบประมาณ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งไปแล้ว จำนวน 135,935,591 บาท นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วน 5 ด้าน ให้จังหวัดดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้ ด้านการจัดหาน้ำอุปโภค — บริโภค โดยจัดตั้งศูนย์แจกจ่ายน้ำประจำหมู่บ้านให้มีน้ำใช้ให้เพียงพอ ตลอดช่วงฤดูแล้ง ด้านการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ให้จัดประชุมการบริหารจัดการลุ่มน้ำในจังหวัดทุกสัปดาห์ เพื่อจัดสรรน้ำ ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ด้านการสร้างรายได้และส่งเสริมอาชีพระยะสั้น ประสานขอความร่วมมือผู้รับเหมาโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ้างแรงงานในหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง เพื่อป้องกันการอพยพเข้ามาทำงานในเมือง ด้านการดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย ประสานสาธารณสุขจังหวัดป้องกันโรคระบาดในช่วงฤดูร้อน โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวังการอุปโภค-บริโภคอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด สำหรับด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด กำหนดแผนป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้าย เพื่อมิให้ผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนซ้ำเติมอีก นอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแผนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน และความไม่เป็นธรรมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ กำลังคนแก่จังหวัดที่ประสบภัยแล้ง ทั้งนี้ หากประชาชน ในพื้นที่ใดประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป