กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--หอการค้าไทย
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และส่งผลกระทบต่อภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีมาตรการหลายด้านจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยหอการค้าไทยได้เสนอแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านการเกษตร ควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ต้นและซังข้าวโพด มาอัดเป็นก้อนแล้วขายให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวลในท้องถิ่น รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ พร้อมขยายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อลดการเผาทิ้ง โดยให้เผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าระบบปิดแทน ทั้งนี้ ควรมีการจัดทำแผนลดการเผาข้าวและข้าวโพด เหมือนกรณีอ้อย ที่มีแผนการลดการเผาเป็น 0% ในปี 2565 ทั้งนี้ หอการค้าไทยเห็นด้วยกับมาตรการลงโทษของภาครัฐ สำหรับเกษตรกรที่มีการเผาพื้นที่ไร่นา เช่น งดให้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐสำหรับเกษตรกร
ภาครัฐควรส่งเสริมการจัดการแปลงที่ดิน เช่น การจัดเวลาเพาะปลูก การรวมแปลง เพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรให้เหมาะสมและคุ้มทุน รวมทั้งภาครัฐอาจจะส่งเสริมให้เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ในการซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อรับจ้างหรือให้บริการเกษตรกรรายย่อย ในขณะเดียวกัน ก็ควรสนับสนุนให้มีการ share utilization เครื่องจักรกลการเกษตร หรือนำมารับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตและไถกลบ หรือรวบรวมชีวมวลที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ เพื่อลดการเผาทำลาย ทั้งใน ข้าว อ้อย และข้าวโพด นอกจากนั้น ควรมีการส่งเสริมธุรกิจบริการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร และให้เกษตรกรรายใหญ่ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย
ในด้านการขนส่ง ขอให้ภาครัฐเข้มงวดการตรวจจับรถควันดำทุกประเภท และให้มีการตรวจวัดควันดำตั้งแต่ต้นทางของบริษัทรับขนส่งสินค้าเพื่อลดความแออัด เสนอให้มีการตรวจสภาพรถบรรทุกและรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2 ครั้ง และขอให้มีการทบทวนมาตรการการเดินรถวันคู่-วันคี่ และการจำกัดเวลาเดินรถ นอกจากนั้น ขอให้ยกเลิกรถบริการสาธารณะทุกประเภทที่หมดอายุการใช้งาน และให้เปลี่ยนเป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งให้มีมาตรการจูงใจลดหย่อนภาษีให้กับผู้ใช้รถยนต์เก่า (10 ปีขึ้นไป) ที่ต้องการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ Hybrid หรือ EV ขณะเดียวกันก็ขอให้มีสถานีบริการสำหรับรถยนต์ EV มากขึ้น
ส่วนในภาคเอกชน ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนตรวจสภาพรถยนต์ของตนเองให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์กรองไอเสียให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และให้ศูนย์บริการรถยนต์ ศูนย์ตรวจสภาพรถเอกชน ให้คำแนะนำและเสนอบริการที่จะลดควันดำด้วย นอกจากนั้น ภาคเอกชนต้องร่วมกันกำกับดูแลคู่ค้าที่เป็นเครือข่ายการรับส่งสินค้า ให้มีรถที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมทำงานและไม่มีควันดำ
ในด้านการก่อสร้าง ภาครัฐจะต้องกำกับดูแลให้พื้นที่ก่อสร้างที่อยู่ในโซนที่มีค่ามลภาวะทางอากาศวิกฤติ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม มาตรการของภาครัฐในการขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ และการห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ แม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ดีในช่วงวิกฤติ แต่อาจจะกระทบต่อระบบงานก่อสร้างตามโครงการต่าง ๆ ดังนั้น ขอให้รัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น การขยายเวลาก่อสร้างโครงการภาครัฐให้เป็นไปตามช่วงเวลาที่ต้องหยุดเดินรถเข้าเขตพื้นที่ที่กำหนด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการก่อสร้างก็จะต้องดำเนินการตามแผน EIA อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้พื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ที่สร้างมลพิษทางอากาศ นอกจากนั้น จะต้องรณรงค์ให้ผู้ประกอบการก่อสร้างมีการวางแผนและเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างที่มีความเหมาะสม โดยใช้ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (precast) และนำมาประกอบที่หน้างาน (prefab) เพื่อลดฝุ่นจากการขนส่งวัตถุดิบและการใช้เครื่องมือเครื่องจักรจำนวนรถบรรทุกดินหรืออุปกรณ์ก่อสร้าง นอกจากนั้น ควรมีการล้างล้อรถบรรทุกเพื่อไม่ให้ดินโคลนตกหล่นบนถนน และมีการใช้สเปรย์ฉีดพ่นน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย
ในด้านมาตรการส่งเสริมพื้นที่สีเขียว เสนอให้มีการลดหย่อนภาษีเงินได้และภาษีที่ดินสำหรับเอกชนผู้ปลูกป่าเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับมลพิษ
หอการค้าไทยตระหนักว่า ปัญหามลพิษทางอากาศควรเป็นเรื่องที่ทุกคนควรมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น ภาครัฐอาจมีการเปิดช่องทางให้ประชาชน แจ้งข้อมูลข่าวสารการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยจะรณรงค์ให้ประชาชนใช้ Social Media เป็นเครื่องมือในการแจ้งข้อมูลและติดตามการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพื่อให้ภาครัฐนำข้อมูล Real time มาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
สำหรับการเฝ้าระวังปัญหาไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของคนไทยในขณะนี้นั้น หอการค้าไทยมีความมั่นใจในมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่อยู่ในมาตรฐานสากล โดยหอการค้าไทยยินดีให้ความร่วมมือ และจะช่วยเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องไปสู่สมาชิกและเครือข่าย และขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐเสนอ ที่สำคัญคือการให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ป่วยและประชาชน เพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และเข้าใจในธรรมชาติของไวรัส สร้างความพร้อมในการแก้ไขปัญหา และรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยขอให้ประชาชนมีสติ ไม่ตื่นตระหนก และติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ โดยภาครัฐควรกำหนดหน่วยงานที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากกระแสข่าวออนไลน์ที่อาจสร้างความสับสนและผิดพลาดได้
สำหรับสถานพยาบาล คลินิก โรงพยาบาล หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นสถานที่ดูแลป้องกันรักษาผู้ป่วย จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด โดยอาจจะเพิ่มจุดคัดกรองพิเศษเพื่อตรวจสอบผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ ทั้งนี้ หอการค้าไทยสนับสนุนแนวทางของสถานประกอบการประเภทโรงแรมในหลายจังหวัด ที่มีมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาพัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้มาใช้บริการอีกด้วย หรือในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวมาพักเป็นกลุ่มใหญ่ ก็อาจจะแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือให้มีหน่วยเคลื่อนที่มาตรวจสอบคัดกรอง
นอกจากนั้น ขอเสนอให้ภาครัฐจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ เช่น ชุด kit set ที่ประกอบไปด้วย หน้ากาก กระดาษทิชชูแบบพกพก และเจลล้างมือ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น เด็กอนุบาล หรือผู้สูงอายุในชุมชนแออัด รวมทั้ง ผู้โดยสารในสถานีขนส่งมวลชนทางบกและทางน้ำ นอกจากนั้น ขอเสนอให้มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในรถบริการสาธารณะ เช่น รถประจำทางหรือรถแท็กซี่ที่มารับผู้โดยสารในสนามบิน เป็นต้น