กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์
ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เผยความสำเร็จธุรกิจในปี 2562 เติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เดินหน้าประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2563 พร้อมพัฒนาธุรกิจขับเคลื่อนการเติบโตของทั้ง 4 กลุ่ม ตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และคาดว่าอัตราผลกำไร EBITDA จะอยู่ที่ร้อยละ 40 แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว พร้อมตั้งเป้าขายที่ดิน 1,400 ไร่ และการสร้างโครงการใหม่/ยอดเช่าพื้นที่โลจิสติกส์รวม 250,000 ตร.ม. รวมทั้งการขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT ราว 150,000 ตร.ม.
ปี 2562 เป็นอีกหนึ่งปีที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของประเทศไทยในฐานะผู้พัฒนาด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ด้วยผลประกอบการและส่วนแบ่งกำไรรวมมูลค่าราว 1.35 หมื่นล้านบาท และมูลค่าสินทรัพย์โดยรวม 8.2 หมื่นล้านบาท
ผลงานความสำเร็จในประเทศไทยที่มีความโดดเด่น ได้แก่ การเปิดนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (WHA ESIE 3) ขนาด 2,620 ไร่ ซึ่งถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ล่าสุดของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป การลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรรายใหญ่ ๆ ด้านโลจิสติกส์ ด้านระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน การเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ของกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค ได้แก่ ธุรกิจน้ำปราศจากแร่ธาตุ และการบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำ การเปิดโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งแรก ๆ ของประเทศไทย ซึ่งบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ได้ร่วมทุนกับบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) และสุเอซ กรุ๊ป และการลงนามในสัญญาระหว่าง WHAUP ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถ มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่หลังคาลานจอดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมพื้นที่ 31,000 ตารางเมตร
ในปี 2562 ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ต้อนรับลูกค้าใหม่ทั้งหมด 80 ราย และมีสัญญาซื้อที่ดินและเช่าโรงงานจำนวน 130 ฉบับ ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ารวม 900 ราย จากสัญญารวมทั้งสิ้น 1,450 ฉบับ
นอกจากนี้ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังได้ขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ได้พัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน เฟสหนึ่ง ซึ่งมีพื้นที่พัฒนาพร้อมขายแล้ว 145 เฮกตาร์ (1,000 ไร่) รวมถึงอาคารสำนักงานแห่งใหม่เพื่อต้อนรับลูกค้า อีกทั้งบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท อควาวัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Aquaone Corporation) และเข้าถือหุ้นร้อยละ 34 ในบริษัท ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการน้ำประปาชั้นนำของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม นอกจากนั้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำให้กับลูกค้าในเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ยังได้เข้าถือหุ้นในบริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย (Cua Lo Water Supply) ร้อยละ 47.3 เพื่อลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในเมืองเหงะ อาน ประเทศเวียดนาม อีกด้วย
กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 4 กองทุนของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (REITs) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 45 ต่อปี และมีมูลค่าสูงถึง 5.54 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 โดยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยมโกรท (WHART) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เหมราช (HREIT) มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 77 และ 30 ตามลำดับ
"แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่ผลการดำเนินงานของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอัตราร้อยละ 22 ในขณะเดียวกันเรายังคงเดินหน้าพัฒนาธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มของบริษัทอย่างต่อเนื่องพร้อมรุกตลาดในไทยและเวียดนาม" นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว
"เรายังเฝ้าระวังดูสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลกในปี 2563 อาทิ ความตึงเครียดด้านการค้าโลก การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์เหล่านั้นอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเรา" นางสาวจรีพร กล่าวเพิ่มเติม "ตัวอย่างเช่น เราสังเกตเห็นได้ว่า สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลให้เกิดกระแสการเคลื่อนย้ายการลงทุนของจีนมายังประเทศไทย ซึ่งตอนนี้คิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พบว่าจีนเป็นประเทศที่มาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว ส่งผลให้สามารถขายที่ดินให้กับกลุ่มลูกค้าจีนและไต้หวันได้ถึง 45 ราย คิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของยอดขายที่ดินของบริษัทในปีที่ผ่านมา" นางสาวจรีพร กล่าวสรุป
นอกจากนี้แล้ว ความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซี เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบินและการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ยังส่งผลดีต่อกลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เนื่องจากมีที่ดินขนาดใหญ่ที่พร้อมให้บริการ และที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็ประสบความสำเร็จในการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในจังหวัดที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศไทย
ทิศทางกลยุทธ์แผนธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป
สำหรับปี 2563 ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้กำหนดทิศทางกลยุทธ์ไว้ 5 ข้อ โดยมุ่งสู่ความเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจหลัก ๆ ของบริษัท ขยายธุรกิจในต่างประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น สร้างพอร์ทโฟลิโอของบริษัทให้เติบโตมากขึ้นด้วยโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับลูกค้า ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ผสานกำลังธุรกิจทุกภาคส่วนของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้มากยิ่งขึ้น และเดินหน้าทรานส์ฟอร์มสู่องค์กรดิจิทัล
- ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ พร้อมแสวงหาโอกาสผนึกกำลังกับพันธมิตรในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านอีคอมเมิร์ซ โดยจะเน้นไปที่สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การแปรรูปอาหาร ตลอดจนการบิน โลจิสติกส์ และโรโบติกส์ นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างคุณลักษณะใหม่ ๆ ให้กับคลังสินค้าอัจฉริยะ โครงการใหม่ ๆ ที่เตรียมเปิดตัว รวมถึงโครงการอีคอมเมิร์ซและการเช่าใหม่ในปี 2563 ตั้งเป้ายอดเช่าอาคารไว้ที่ 250,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2,560,000 ตารางเมตร นอกเหนือจากพื้นที่คลังสินค้าที่มีอยู่ในประเทศไทยและในอินโดนีเซียแล้ว ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ ยังมองหาโอกาสการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในเวียดนามด้วย ทั้งนี้ในปี 2563 ยังมีแผนขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT ราว 150,000 ตร.ม.
- ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) ตอกย้ำตำแหน่งผู้นำในประเทศไทย ด้วยการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 11 ของกลุ่ม (นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36) ในช่วงปลายปี 2563 และขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 4 และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 3 แห่งภายในปี 2566
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเปิดรับนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งานเพื่อประโยชน์ของลูกค้า ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จะพัฒนาแนวคิด "Smart Eco Industrial Estates" ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เร่งนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้กับทุกบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ตั้งแต่ระบบการติดตามออนไลน์ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนา "ระบบขนส่งอัจฉริยะ" (Smart Mobility) ไปจนถึงการควบคุมจราจรและการใช้โดรนเพื่อสร้าง "ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ" (Smart Security) หรือระบบ FTTx และคลาวด์ เพื่อขับเคลื่อน "การสื่อสารอัจฉริยะ" (Smart Communication) พร้อมนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้กับระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ด้วย อาทิ การวัดมิเตอร์น้ำ สมาร์ทกริดและการวัดการใช้ไฟฟ้า
ในเวียดนาม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จะพยายามเร่งยอดขายเพื่อดึงดูดนักลงทุนมายังเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน หนึ่งในโครงการที่ได้มาตรฐานสูงสุดในพื้นที่ภาคกลางตอนเหนือ ของประเทศเวียดนาม ในขณะเดียวกันบริษัทจะพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เหลือของเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน เฟส 1 ทั้งนี้ยังอยู่ในระหว่างการขออนุมัติใบอนุญาตจากรัฐบาลเวียดนาม
- ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) จะขยายธุรกิจ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการน้ำรูปแบบใหม่ และเสริมพอร์ทด้านพลังงานด้วยนวัตกรรมโซลูชันพลังงาน
- ด้านสาธารณูปโภค ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จะขยายการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม และจะให้บริการโซลูชันทรัพยากรน้ำหลากหลายรูปแบบ ทั้งการบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Wastewater Reclamation) การผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด (Desalination) ส่วนในประเทศเวียดนาม ซึ่งในปี 2562 บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทน้ำสองแห่งไปแล้ว ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ แอนด์ พาวเวอร์ จะยังมองหาโอกาสการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค
- ด้านพลังงาน ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จะขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียน หลังจากที่ได้เปิดบริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 WHAUP จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา บริษัทจะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรระยะยาวในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก อาทิ กัลฟ์ และด้านการส่งก๊าซธรรมชาติร่วมกับมิตซุย และโตเกียว แก๊ส อีกทั้งยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน รวมถึงดำเนินการด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ สมาร์ทไมโครกริด และการกักเก็บพลังงาน
- ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ตั้งเป้าสนับสนุนการดำเนินงานทุกรูปแบบในทุกฮับของกลุ่ม ช่วงปลายปี 2563 จะมีการติดตั้งไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่งจากทั้งหมด 10 แห่งในประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่อด้านดิจิทัลภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ยิ่งไปกว่านั้น อาศัยจากฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม จะส่งผลดีกับธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ด้วย
"ด้วยแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่เรากำลังดำเนินการ รวมถึงโครงการใหม่ ๆ ที่กำลังจะแล้วสร็จ เรามั่นใจว่าผลประกอบการปีนี้จะยังเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง โดยจะรักษายอดขายและรายได้ประจำให้มีความสมดุลย์กัน เราคาดว่ารายได้และส่วนแบ่งกำไรของเราในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 15 จากปีก่อน ตั้งเป้าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่แข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 40 และเพื่อให้ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต เราคาดการณ์ว่าจะมีการใช้งบประมาณในการลงทุนช่วงปี 2563 – 2567 ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนไม่เกิน 1 เท่า เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พร้อมสร้างธุรกิจที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายไปพร้อม ๆ กับลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเราทุกคน" คุณจรีพร กล่าวทิ้งท้าย