กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ระดับเงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิตไทยอาจได้รับแรงกดดันจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง (risky assets) ที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมน่าจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมภายหลังเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนฉบับใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 เนื่องจากโดยภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตยังคงมีระดับเงินกองทุนที่ค่อนข้างแข็งแรง พอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำยังคงมีขนาดที่ใหญ่ และบริษัทมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างทันการณ์
ฟิทช์คาดว่าบริษัทประกันชีวิตภายในประเทศจะทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อชดเชยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวต่ำลง โดยบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งได้ริเริ่มพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคารสำนักงาน หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเชิงสุขภาพเพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงและมีความสม่ำเสมอมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนและในหลักทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้บริษัทประกันชีวิตถือครองตราสารหนี้ภาคเอกชนรวมประมาณ 22% ของมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนรวม และลงทุนในตราสารทุนและหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูงกว่า 10% โดยอ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ปี 2562 สำหรับสินทรัพย์อื่นที่บริษัทประกันชีวิตอาจลงทุนเพิ่มเติมประกอบด้วยตราสารต่างประเทศ เงินให้กู้ยืมจากกรมธรรม์ประกันชีวิต และการลงทุนทางตรงในโครงการอสังหาริมทรัพย์
ดังนั้นฟิทช์จึงคาดว่าบริษัทประกันชีวิตภายในประเทศจะต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมเนื่องจากค่าความเสี่ยงด้านการตลาดภายใต้เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 ที่มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้น โดยค่าความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับการรับรองอาจเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 16%-50% จาก 16%-20% ภายใต้กรอบฯ ระยะที่ 1 และค่าความเสี่ยงจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 9%-19% จาก 4%-16% ในขณะที่ค่าความเสี่ยงของสินทรัพย์โภคภัณฑ์จะเพิ่มเป็น 50% จาก 15% นอกจากนี้การพิจารณาความเสี่ยงด้านความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยก็จะมีความละเอียดของการทดสอบที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงค่าความเสี่ยงด้านการตลาดดังกล่าวยังคงสอดคล้องกับผลของการทดสอบผลกระทบเชิงปริมาณต่อบริษัทประกันชีวิตในปี 2560 ที่ระบุว่าความเสี่ยงด้านการตลาดเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อระดับของเงินกองทุนของธุรกิจประกันชีวิตภายใต้กรอบการดำรงเงินกองทุนฉบับใหม่
ฟิทช์มีความเห็นว่าระดับเงินกองทุนเฉลี่ยของอุตสาหกรรมประกันชีวิตไทยจะไม่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญแม้ว่าบริษัทประกันชีวิตที่ถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงในปริมาณมากจะมีระดับเงินกองทุนที่ต่ำลงเมื่อกรอบการดำรงเงินกองทุนฉบับใหม่ที่มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นประกาศใช้ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงด้านสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นนี้น่าจะถูกบรรเทาลงบางส่วนจากการที่บริษัทต่างๆ ยังคงลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโดยภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตไทยยังคงลงทุนในตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนเฉลี่ยมากกว่า 80% ของเงินลงทุนรวมตั้งแต่ปี 2558 โดยระดับของเงินกองทุนตามเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงฉบับที่ 1 ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ที่ 387% นั้นยังคงสูงกว่าเกณฑ์ตามกฏหมายที่ 140% อยู่มาก
นอกจากนี้ การดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจที่รัดกุมก็จะทำให้บริษัทประกันชีวิตสามารถบริหารระดับผลตอบแทนที่คาดหวังกับระดับของเงินกองทุนที่ต้องดำรงเพิ่มขึ้นได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น การลดปริมาณธุรกิจผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงและการปรับปรุงอัตราการจ่ายค่านายหน้าประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการขายให้มีความเหมาะสมมากขึ้นก็จะช่วยบรรเทาแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัทได้ ทั้งนี้การลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวเพิ่มเติม เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อย่างระมัดระวังก็จะช่วยให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถบริหารความแตกต่างระหว่างอายุสินทรัพย์และหนี้สิน (asset-liability mismatch) ได้ดียิ่งขึ้นและบรรเทาผลกระทบของความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยต่อระดับของเงินกองทุนที่บริษัทประกันชีวิตต้องดำรงตามเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนที่มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นได้