กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ธนาคารไทยหลายแห่งมีการพิจารณาที่จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในช่วงหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ของธนาคารในภูมิภาคเอเชีย แนวโน้มของการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากแรงกดดันที่สูงขึ้นในด้านผลกำไร) อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของธนาคารบางแห่ง ที่จะขยายการดำเนินงานไปในประเทศที่มีความเสี่ยงในด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่สูงขึ้น
ระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำ แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อที่ไม่สูงนัก และการแข่งขันที่เข้มข้นภายในประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ธนาคารหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพิ่มขึ้นในการเข้าซื้อกิจการและควบรวมกิจการ (M&A) กับธนาคารอื่นในต่างประเทศ ฟิทช์เชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงปี 2563 นอกจากนี้ธนาคารยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศของธนาคารที่มีการขยายธรุกิจไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีความชัดเจนมากกว่าสำหรับธนาคารในประเทศที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชีย แต่ที่ผ่านมาปัจจัยดังกล่าวก็เป็นปัจจัยที่พบในประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นกัน ซึ่งรวมถึงในกรณีของประเทศไทย
เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ได้ตกลงที่จะเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 89% ของ PT Bank Permata Tbk (AAA(ind)/เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ) ซึ่งเป็นธนาคารในประเทศอินโดนีเซีย และในเดือนมกราคม 2563 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) มีการเจรจาซื้อหุ้นในสัดส่วน 35% ของ Ayeyarwaddy Farmers Development Bank ซึ่งเป็นธนาคารในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่านอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ก็ได้เปิดเผยว่าธนาคารกำลังอยู่ระหว่างขออนุมัติเปลี่ยนสถานะสำนักงานตัวแทนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าเป็นบริษัทย่อย
ฟิทช์คาดว่าธนาคารไทยแห่งอื่นน่าจะพิจารณาการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ โดยทั่วไปธนาคารไทยส่วนใหญ่มีฐานะเงินกองทุนที่เหมาะสม ซึ่งน่าจะช่วยรองรับการเติบโตโดยการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ (inorganic growth) ได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ขนาดของกิจการที่จะเข้าซื้อน่าจะถูกจำกัดโดยขนาดของเงินกองทุนของธนาคารไทย ซึ่งฟิทช์เชื่อว่ามีเพียงธนาคารไม่กี่รายที่จะสามารถเข้าซื้อกิจการที่มีขนาดใหญ่ในระดับใกล้เคียงกับในกรณีของ Permata
อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ของอุตสาหรกรรมธนาคารไทย
การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในระดับที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับต่ำ อาจส่งผลความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวลดลงและบ่งชี้ถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (viability rating) ของธนาคาร ความสามารถในการบริหารจัดการอุปสรรคและความท้าทายที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการธนาคารในต่างประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาผลกระทบต่ออันดับเครดิต โดยทั่วไปฟิทช์มองว่าธนาคารในประเทศที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชีย น่าจะมีความพร้อมมากกว่าในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ในด้านของฐานะทางการเงินและความชำนาญ
สัดส่วนลูกหนี้ต่างประเทศของธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางของไทย (% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562)
ธนาคารกรุงเทพ มีความแตกต่างจากธนาคารไทยรายอื่น เนื่องจากธนาคารกรุงเทพมีประสบการณ์มากในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยธนาคารได้มีการดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียมาแล้วก่อนหน้าเป็นเวลานาน อีกทั้งธนาคารยังมีบริษัทย่อยในประเทศมาเลเซียและประเทศจีน ในขณะที่ธนาคารไทยรายอื่นๆ มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ไม่มากนัก ฟิทช์เชื่อว่าปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยจำกัดความเสี่ยงจากความพยายามที่จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศที่อาจมีสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่แตกต่าง คือการขยายธุรกิจไปในกลุ่มประเทศใกล้เคียง เช่นประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งฟิทช์คาดว่าธนาคารอาจจะเน้นไปในทิศทางดังกล่าว
การขยายธุรกิจไปในประเทศที่สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่มีความท้าทายสูงกว่า อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มเติมกับธนาคารไทย รวมทั้งธนาคารอื่นในภูมิภาคเอเชียที่มีแผนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในลักษณะที่คล้ายกัน ภายใต้สถาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อมดังกล่าวอาจยังไม่มีความชัดเจนมากนักในระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตามหากสภาพแวดล้อมปรับตัวแย่ลง ความเสี่ยงดังกล่าวจะเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น จากผลกระทบดังกล่าว การพิจาณาผลกระทบของฟิทช์ต่ออันดับเครดิตของธนาคารจากการซื้อกิจการในต่างประเทศ จึงต้องคำนึงถึงระดับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่เหมาะสม เทียบกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจในต่างประเทศ