กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ได้เริ่มมีการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic bag) ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในระยะแรกถุงพลาสติกจะลดลงจากแหล่งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ตลาดสดหัวเมืองและร้านขายของชำบางพื้นที่อย่างน้อยราวร้อยละ 29 หรือประมาณ13,000 ล้านใบ จากปริมาณเฉลี่ยราว 45,000 ล้านใบ/ปี และจะลดลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 64 หรือ 29,000 ล้านใบ ภายในปี 2565จากความร่วมมือที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น
การลดลงของปริมาณถุงพลาสติกดังกล่าวได้กระทบถึงผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานทั้งรายใหญ่และ SMEs ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย ซึ่งภาครัฐอาจเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2563 ภาพรวมของผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการลดใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งยังคงเป็นบวกราว 2,191 ล้านบาท จากโอกาสทางธุรกิจสำหรับถุงทดแทน โดยเฉพาะถุงพลาสติกชนิดหนา ถุงผ้าพลาสติก และถุงผ้า ที่จะมีความต้องการราว 410 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,630 ล้านบาท แม้จะเริ่มติดลบในปี 2565 ที่มูลค่าราว 295 ล้านบาท