กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งแม่น้ำทา ฝายดอยครั่ง ณ โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งแม่น้ำทา ฝายดอยครั่ง ต.ทาขุมเงิน อ.แม่ทา จ.ลำพูน ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้มาปรับปรุงฝายดอยครั่ง เนื่องจากฝายเดิมมีการชำรุด ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ใน อ.แม่ทา อีกทั้งยังไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ในฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรฯ จึงพร้อมเร่งดำเนินการก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หวังช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากการปรับปรุงดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 2 ตำบล รวมประมาณ 8,000 ไร่ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรอีก 11 หมู่บ้าน 1,650 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้อีกด้วย
"นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา) ได้มีความห่วงใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ภัยแล้ง กระทรวงเกษตรฯ จึงดำเนินการตามนโยบายและพยายามจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด มุ่งหวังให้มีน้ำใช้อย่างสมบูรณ์ทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่แต่ละครั้งจะต้องทำประโยชน์ให้กับพื้นที่นั้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งพร้อมผลักดันงบประมาณในการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้และเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อไป" นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝายดอยครั่งแต่เดิมราษฎรได้ทำการใช้ไม้มาตอกเพื่อสร้างเป็นฝายเรียกว่าฝายไม้ตอก แต่ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำในลำน้ำแม่ทาได้ ซึ่งในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำไหลหลากจนทำให้ตัวฝายได้รับความเสียหาย ต่อมากรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างฝายหินโครงสร้างเหล็ก ความยาวของสันฝาย 50 เมตร สูง 2.40 เมตร พร้อมประตูระบายทรายขนาด 1×1 เมตร จำนวน 2 ช่อง พร้อมก่อสร้างท่อระบายน้ำปากคลองฝั่งขวา ขนาด 2×2 เมตร
สำหรับโครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำฝายดอยครั่ง (ระยะที่ 6) ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านดอยครั่ง หมู่ 7 ต.ทาขุมเงิน อ.แม่ทา จ.ลำพูน มีลักษณะเป็นระบบส่งน้ำประเภทรางรินคอนกรีตเสริมเหล็ก เพิ่มเติมจากเดิมที่ กม.7+643 จนถึง กม.12+070 รวมความยาว 4.42 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบ โครงการดังกล่าวเป็นการปรับปรุงระบบส่งน้ำเดิมให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำให้แก่ราษฎรในพื้นที่อย่างทั่วถึง และเพียงพอกับความต้องการของราษฎร