นิด้าชี้ทางฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แนะรัฐ “นิ่ง” ก่อนลงมือแก้ปัญหา เตือนอย่าประมาทพลังตรวจสอบภาคประชาชน

ข่าวทั่วไป Thursday March 6, 2008 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ตั้งวงวิพากษ์ “อนาคตประเทศไทย ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม” คณบดีแนะรัฐบาลหยุดซัดส่าย ชี้ต้องนิ่งก่อนแก้ปัญหาสังคม-เศรษฐกิจ เตือนแก้รัฐธรรมนูญระวังแตะประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนและการเงินการคลัง ระบุสื่อมวลชนฉลาดกว่าที่นายกฯ คิด ลั่นอย่าประมาทการตรวจสอบจากภาคประชาชน ระบุผุดบ่อนคาสิโนไม่เร่งด่วนเท่ายกระดับการศึกษา ขณะที่ รศ.ดร.จุรี ย้ำต้องปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมอย่างจริงจัง อย่าเห็นแก่พวกพ้อง ด้าน รศ.ดร.มนตรี เชื่อเศรษฐกิจปีนี้โตได้ 5-6% หากรัฐบาลเร่งใช้เงินโดยเร็ว
ผศ.ปกรณ์ ปรียากร คณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในการเสวนาพิเศษเรื่อง “อนาคตประเทศไทย ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม” ว่า การเมืองในระยะนี้ภาคประชาชนจะมีความตื่นตัวสูง และมีการตรวจสอบนักการเมืองเร็ว ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนในปัจจุบันนี้ก็มีความชาญฉลาดมากกว่าที่นายกรัฐมนตรีคิด การที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าสื่อคิดได้แค่นี้อาจจะใช้ความรู้สึกเมื่อครั้งที่นายกฯ เคยเป็นสื่อมวลชนอยู่ระยะหนึ่งมาคิด แต่สื่อมวลชนสมัยใหม่นี้มีวิธีคิด วิธีการวิเคราะห์ และวิธีการตรวจสอบ อีกทั้งมีแรงขับเคลื่อนร่วมกันกับองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างกว้างขวาง โดยมีตัวอย่างที่ชัดเจนจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่ผู้ชูประเด็นการตรวจสอบได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก
“ช่วงนี้ผมอยากให้รัฐบาลนิ่งสักนิด ปัญหาทางสังคม ปัญหาทางเศรษฐกิจแก้ไม่ได้ ถ้าหากว่าการเมืองไม่นิ่ง และอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถือว่าเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวังมากที่สุดก็คือการใช้อำนาจที่จะก้าวไปสู่การเป็นเผด็จการทางรัฐสภาเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา หากเป็นอย่างนั้นจะทำให้การเมืองมีความยุ่งยาก” ผศ.ปกรณ์กล่าว
คณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินด้วยความมั่นคง สุจริต เที่ยงธรรม และไม่ยึดถือประโยชน์ของกลุ่มพวกตัวเองเป็นที่ตั้งแล้ว รัฐบาลนี้อยู่ได้ยาว อาจจะอยู่ 4 ปีด้วย แต่ถ้าทำในทางตรงกันข้าม เช่น มีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน มีปัญหาเรื่องจริยธรรม รัฐบาลอาจจะลำบาก
“ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้อยากจะแก้อะไรก็แก้ได้หมด แต่ถ้าไปแตะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องจริยธรรม เรื่องคุณธรรม และเรื่องการเงินการคลังของรัฐ ที่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก จะทำให้รัฐบาลมีปัญหา” ผศ.ปกรณ์กล่าวและว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลโยนเรื่องของคาสิโนขึ้นมา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก และไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ทั้งๆ ที่รัฐบาลควรชูเรื่องการศึกษา ให้เห็นชัดว่าเมืองไทยเป็นเมืองทองด้านการศึกษา ดูอย่างประเทศจีนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ก็เพราะทุ่มเงินในภาคการศึกษามหาศาล
นอกจากนี้ อยากเห็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกระทรวงเอก ไม่อยากให้รัฐบาลมุ่งในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเร็วๆ ปลดล็อก 111 คนเร็วๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องคาสิโน เพราะเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
ด้าน รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม กล่าวถึงเรื่องหลักคิดทางคุณธรรมจริยธรรมว่า ถ้าไม่มีการปลูกฝังอย่างจริงๆ จังๆ เกี่ยวกับจิตสำนึกสาธารณะว่า ส่วนรวมได้ประโยชน์อย่างไร ก็จะมีแนวคิดว่าต้องให้พรรคพวกพี่น้องของตัวเองได้ประโยชน์ก่อน เพราะรักพวกพ้องพี่น้องเพื่อนฝูง ซึ่งไม่น่าจะใช่เกณฑ์ที่ถูกต้อง รัฐบาลควรจะใช้เกณฑ์เรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเป็นที่ตั้ง ซึ่งการขับเคลื่อนด้านนี้ต้องทำกันอย่างจริงจัง และใช้เวลายาวนาน แต่อย่าไปท้อว่าใช้เวลานาน เพราะถ้าไม่ทำ ก็จะเป็นอย่างที่เป็นอยู่
“ประชาธิปไตยก้าวหน้านิด ถอยหลังหน่อย อยู่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่มีวันจะไปถึงการเมืองและสังคมที่เราพึงปรารถนาแน่นอน” รศ.ดร.จุรีกล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีตัวละคร คือ ประชาชน เอกชน และรัฐบาล ในส่วนของประชาชน รัฐบาลได้ออกมาตรการที่จะเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนโดยการลดภาระภาษี เช่นเดียวกับในภาคเอกชนที่ได้รับการลดภาระด้วย แต่จะทำให้เกิดการใช้จ่ายหรือการลงทุนมากขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับบรรยากาศและความเชื่อมั่น ดังนั้นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น
ในส่วนของรัฐบาล ถือว่ารัฐบาลนี้โชคดีที่รัฐบาลที่แล้วเสนองบประมาณไว้แบบงบขาดดุลซึ่งตั้งงบขาดดุลไว้ 165,000 ล้านบาท ซึ่งเยอะมาก มีเงินที่เตรียมไว้ให้ใช้จ่าย เพียงแต่ว่าทำอย่างไรจะให้เงินเหล่านี้ไปหมุนเวียนในระบบได้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องเร่งใช้จ่าย ไม่ใช่ไปรอเอาปลายปีงบประมาณ การรีบใช้รัฐบาลทำได้ก่อน ไม่ต้องไปรอความเชื่อมั่นของภาคประชาชนและเอกชน และเมื่อรัฐใช้จ่ายมากขึ้น เอกชนก็พร้อมจะลงทุน ประชาชนก็พร้อมใช้จ่าย ก็จะทำให้เกิดการหมุน เศรษฐกิจก็ไปได้
“หากมองว่าการส่งออกปีนี้โตประมาณ 12% จะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2-3% เมื่อรวมกับการขับเคลื่อนภายในประเทศอีก 2-3% ก็เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโต 5-6%” รศ.ดร.มนตรี กล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : คุณกฤติยาพร พลตรี (บุ๋ม)
บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในนาม คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (GSPA) นิด้า
โทรฯ 02-643-1191 ต่อ 26 มือถือ 08-9636-8414 E-mail address : kritiya_kpp@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ