กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
วช. ประกาศรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่น รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2563 และการจัดงาน "วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563" นำผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นและ ใหม่จัดแสดงในงานกว่า 1000 ผลงาน โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยงานสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี โดยการมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ (ระดับปริญญาเอก) และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยจัดเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2517 รวมระยะเวลาถึงปัจจุบันกว่า 46 ปี ถือเป็นรางวัลระดับชาติที่มีความเก่าแก่และเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเดิมใช้ชื่อรางวัลว่า "รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ" โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัย ที่ได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม รวมถึงผลงานวิจัยที่สร้างคุณูปการ และเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงชุมชน สังคม และเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีจริยธรรมของนักวิจัยเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้น ๆ 2) รางวัลผลงานวิจัย เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง 3) รางวัลวิทยานิพนธ์ เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก และได้รับการเผยแพร่หรือในวารสารที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ และ 4) รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ผลงาน ที่เป็นของใหม่ หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้
ด้าน "วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563" เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 เพื่อรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ในการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและเป็นครั้งแรกของโลก รวมทั้งการเปิดเวทีในการแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้แนวคิด "สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ พัฒนาก้าวไกล นวัตกรรมไทยยั่งยืน" กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 "สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขเพื่อประชาชน" นิทรรศการน้อมรำลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" นิทรรศการผลงานประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ นิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยและบัญชีนวัตกรรมไทย นิทรรศการระดับนานาชาติ นิทรรศการผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา ทั้งในด้านความมั่นคง ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ นวัตกรรมสำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น จำนวนกว่า 1,000 ผลงาน จาก 200 หน่วยงาน นอกจากนี้ ยังมีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventor Award : I New Gen Award 2020 จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศกว่า 400 ผลงาน รวมถึงการจัดการประชุมเสวนา การฝึกอบรมในหัวข้อต่าง ๆ การให้บริการปรึกษาด้านการวิจัย การประดิษฐ์ เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ
สำหรับ การจัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563 ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2563 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 17.00 น.