กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
บริติช เคานซิล เผยทิศทางการดำเนินงานปี 2563 เดินหน้าสานความร่วมมือระหว่างไทย – อังกฤษ ใน 3 ด้าน ได้แก่ ภาษาอังกฤษ อุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านไฮไลท์แผนการดำเนินการตลอดปี 2563 ได้แก่ 1) ร่วมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาพัฒนาทักษะการสอนภาษาอังกฤษรวมถึงทักษะของคุณครูในศตวรรษที่ 21 2) การปรับปรุงหลักสูตรและเปิดตัวคอร์สเรียนภาษาอังกฤษใหม่ตอบรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของผู้เรียน 3) เดินหน้าส่งเสริมการศึกษาสหราชอาณาจักรพร้อมกับทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า 6,800,000 บาท4) ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาระบบนิเวศของวิทยาศาสตร์และงานวิจัย 5) เดินหน้าพัฒนางานศิลปะหัตถกรรมผ่านรูปแบบกิจการเพื่อสังคม พร้อมเผยสถิติคนไทยเลือกศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่สหราชอาณาจักร มากเป็นอันดับ 1 โดย 5 สาขาวิชาที่คนไทยนิยมเลือกเรียน ได้แก่ 1) การจัดการธุรกิจ 2) วิศวกรรมและเทคโนโลยี 3) สังคมศาสตร์ 4) กฎหมาย 5) ออกแบบและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมไปถึงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมีความร่วมมือกันด้านวิชาการและงานวิจัยระหว่างสถาบันของไทย-อังกฤษ กว่า 55 ความร่วมมือ โดยเน้นสาขาด้านชีววิทยาและชีวการแพทย์ ด้านอาหารและการเกษตร และด้านพลังงานและวิศวกรรม
มร. แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร เดินหน้าสานความร่วมมือไทย – อังกฤษอย่างต่อเนื่อง มุ่งสานความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับผู้คนทั่วโลก โดยเราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนในทางที่ดีขึ้นด้วยการสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ซึ่งบริติช เคานซิล ประเทศไทย ยังคงมุ่งเน้นการทำงานใน 3 ด้าน ได้แก่ ภาษาอังกฤษ อุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
"ปัจจุบันมีคนใช้ภาษาอังกฤษหรือกำลังเรียนภาษาอังกฤษกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก และทักษะภาษาเป็นหนึ่งในซอฟท์สกิลที่สำคัญที่สุดของเยาวชนในอาเซียน โดยประเทศไทยยังคงมีอุปสรรคด้านภาษาอังกฤษอันเกิดจาก ความไม่เท่าเทียม ทักษะภาษาของครูผู้สอน วิธีการสอน และวิธีการวัดผล "
มร. แอนดรูว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาถึงปัญหาในภาพรวมด้านภาษาอังกฤษของประเทศไทย สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเด็นหลัก คือ ค่าดัชนีความไม่เท่าเทียม ทักษะภาษาอังกฤษของครูผู้สอน วิธีการสอนภาษาอังกฤษ และวิธีการวัดผล เมื่อรวมกับปัญหาระดับบุคคล ที่เราต่างอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ในปี 2563 บริติช เคานซิล จะนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาภาษาอังกฤษอย่างรอบด้านในทุกระดับ ตั้งแต่เรียนการสอนไปจนถึงการสอบ ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล โดยบริติช เคานซิลได้มีการหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาศักยภาพครู และการสอนภาษาอังกฤษในระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัยที่ผลิตครู พร้อมๆ กับการขยายเครือข่ายโรงเรียนและมหาวิทยาลัย (partner schools) การพัฒนาและขยายบริการด้านการสอบเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้สอบมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเปิดตัวหลักสูตรปรับปรุงใหม่ของส่วนโรงเรียนสอนภาษา เช่น หลักสูตร Learning Time with Timmy สำหรับเด็กเล็ก (4-6 ขวบ) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ออกแบบตามทักษะการเรียนรู้ของเด็กตามธรรมชาติที่เริ่มต้นด้วยการฟัง ทำความเข้าใจ แล้วจึงเริ่มพูด อ่าน และเขียน ผ่านการเรียนรู้ด้วยการเล่น (Play-based methodology) กับสื่อการสอนสร้างสรรค์ร่วมกับบริษัทอาร์ดแมน แอนิเมชันส์ผ่านตัวละคร Timmy
"สหราชอาณาจักร เป็นจุดหมายที่คนไทยเลือกศึกษาต่อมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มากถึง 43% และสหราชอาณาจักรมีโมเดลการทำงานร่วมกันระหว่างภาคอุดมศึกษา ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าด้วยการเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม"
มร. แอนดรูว์ กล่าวเสริมว่า สำหรับด้านอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ สหราชอาณาจักรถือว่าเป็นจุดหมายหลักด้านอุดมศึกษาของคนไทย โดยจากสถิติจากปี2560/61 มีนักศึกษาไทยเลือกศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักรมากถึง 6,785 คน หรือคิดเป็น 43% จากจำนวนนักศึกษาไทยที่เลือกศึกษาต่อต่างประเทศจำนวน 15,738 คน โดยรองลงมาเป็น สหรัฐอเมริกา 37% ออสเตรเลีย 16% และแคนาดา 4% โดย 5 สาขาวิชาที่คนไทยเลือกเรียนต่อมากที่สุด ได้แก่ สาขาการจัดการธุรกิจ จำนวน 41% สาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี จำนวน 11.5% สาขาสังคมศาสตร์ จำนวน 7% สาขากฎหมาย จำนวน 6.4% และสาขาการออกแบบและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จำนวน 5% โดยในปีนี้ บริติช เคานซิล ยังคงเดินหน้าส่งเสริมการศึกษาต่อสหราชอาณาจักร ผ่านการจัดนิทรรศการต่อสหราชอาณาจักร รวมไปถึงทุนการศึกษา โดยบริติช เคานซิล มีการมอบทุนGREAT Scholarships สำหรับการศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ สหราชอาณาจักร รวม 11 ทุน มูลค่ากว่า 4,000,000 บาท และทุน IELTS Prize 2019/20 รวม 6 ทุน มูลค่ากว่า 2,800,000 บาท มีการคาดการณ์ว่า จะมีอัตราการเติบโตของนักศึกษาไทยที่เลือกศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักรเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศข้อเสนอใหม่ (New Graduate Route) ที่ทำให้นักศึกษาต่างชาติสามารถอยู่เพื่อทำงานในประเทศต่อได้อีก 2 ปี จึง โดยทางสหราชอาณาจักรได้ตั้งเป้าจะมีจำนวนนักศึกษาต่างชาติมากถึง 600,000 คน ในปี 2573
เมื่อพูดถึงสถานการณ์ภาพรวมของภาคอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ที่เทรนด์ของโลกและทิศทางของรัฐบาลที่เน้นย้ำในเรื่องของ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ประกอบกับบทบาทที่เปลี่ยนไปของมหาวิทยาลัย ที่จะต้องเปลี่ยนจากการสอนแบบเลคเชอร์ในห้องเรียน เป็นการปฏิบัติจริง ประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อพัฒนาสังคม ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บริติช เคานซิลได้เป็นตัวกลางเชื่อมความร่วมมือกันด้านวิชาการและงานวิจัยระหว่างสถาบันของไทย-อังกฤษ มากถึง 55 ความร่วมมือ โดยเน้นหลักในด้านชีววิทยาและชีวการแพทย์ ด้านอาหารและการเกษตร และด้านพลังงานและวิศวกรรม โดยในปี 2563 บริติช เคานซิล จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา การวิจัย และอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับส่งเสริมความคล่องตัวของการศึกษาระดับสากล ตั้งแต่การส่งเสริมความร่วมมือของภาคการศึกษา นักวิจัย และภาคธุรกิจเข้าด้วยกัน ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศของงานวิจัยอย่างครบวงจร ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการยกระดับระบบบริหารงานวิจัยของประเทศไทยสู่ความเป็นสากล ทุนวิจัยนิวตันฟันด์ โดยจะทำควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ และเข้าใจถึงความสำคัญของงานวิจัย ผ่านเวทีการสื่อสารวิทยาศาสตร์FameLab และโครงการ Researcher Connect มร.แอนดรูว์ กล่าวต่อ
"อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของสหราชอาณาจักร ถ้าหากเราสามารถพัฒนา ยกระดับการจัดการและแก้ปัญหาเรื่องทัศนคติของคนไทยที่มีต่องานหัตถกรรมได้ เราจะสามารถใช้ทักษะฝีมืองานหัตถกรรมที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมเดิมของคนไทย เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศได้"
มร.แอนดรูว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับด้านศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หัวใจที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยคนไทยมีทักษะฝีมือด้านหัตถกรรมที่โดดเด่นและประกอบอาชีพด้านงานหัตถกรรมมากถึงกว่า 300,000 คน และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนอย่างมากมาย แต่ส่วนมากยังเป็นการสนับสนุนที่ไม่ครบวงจรและทับซ้อนกันเองอยู่มาก ประกอบกับปัญหาในเรื่องมุมมองของคนไทยที่มีต่อมูลค่าของงานหัตถกรรม ที่มองว่างานหัตถกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันและไม่ได้มีมูลค่าสูง การแข่งขันในตลาดปัจจุบันจึงแข่งกันที่ราคา ทำให้ธุรกิจงานหัตถกรรมที่เป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยยังไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร กลุ่มนักออกแบบชาวไทย และชาวบ้าน ช่างฝีมือ กว่า3,000 คน และกว่า 200 แบรนด์ เพื่อเสริมสร้างทักษะฝีมืองานหัตถกรรมท้องถิ่น และในปี 2563 บริติช เคานซิล จะสนับสนุนการเติบโตของเครือข่ายงานหัตถกรรมควบคู่กับการเร่งพัฒนาทักษะการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม เตรียมเดินหน้าโครงการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจงานคราฟท์ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Craft social enterprise) และโครงการพัฒนาบทบาทของศูนย์รวมความคิดสร้างสรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ และเศรษฐกิจ
"หากเรามีความเชื่อใจ และความไว้วางใจระหว่างกัน จะช่วยให้ความร่วมมือนั้นยั่งยืน และเกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง" มร. แอนดรูว์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ บริติช เคานซิล ได้จัดงานแถลงทิศทางการดำเนินงาน และวิสัยทัศน์ใหม่ปี 2563 ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ บริติช เคานซิล สยามสแควร์ อาคารวิทยกิตติ์ กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 02-657-2211 และเว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th