กสอ. – สถาบันอาหาร – จ.มิเอะ ฉลอง 1 ปี ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย เร่งต่อยอดเทคโนโลยีรับเกษตรอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปโต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 5, 2020 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ร่วมกับสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม และจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น จัดสัมมนาใหญ่ "ผ่าความลับอาหารมิเอะ เสน่ห์เติมเต็มประสบการณ์ผู้บริโภคไทย" ฉลองความสำเร็จ 1 ปี "ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย" ณ ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร ยกขบวนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารแปรรูป และผู้ประกอบธุรกิจอาหารชื่อดังจากจังหวัดมิเอะ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการไทยแบบครบวงจร พร้อมนำสินค้าอาหารขึ้นชื่อมาให้ชิม และสาธิตการปรุง เดินหน้าชูจุดแข็งด้านวัตถุดิบของ 2 ประเทศ ตั้งเป้าดันผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารร่วมกัน หวังสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในอนาคต สอดรับแนวโน้มตลาดส่งออกอาหารแปรรูปพุ่ง เผยปี 2562 ไทยมีสัดส่วนส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50.5 มีมูลค่า 517,877 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 5.2 ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีสัดส่วนลดลงอยู่ที่ร้อยละ 49.5 มีมูลค่า 507,623 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 11.5 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนา "ผ่าความลับอาหารมิเอะ เสน่ห์เติมเต็มประสบการณ์ผู้บริโภคไทย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการฉลองความสำเร็จ 1 ปีของการจัดตั้ง "ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย" ว่า งานวันนี้ถือเป็นการสานต่อความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง 3 หน่วยงานด้วยกัน ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) สถาบันอาหาร และจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย (Mie-Thailand Innovation Center) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดยได้ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการแปรรูปอาหาร ที่ได้รับจากบริษัท ซูเอฮิโระ อีพีเอ็ม (SUEHIRO EPM) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยยกระดับผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบ ให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน สามารถมุ่งไปสู่เวทีระดับโลกได้ แม้ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวน แต่สินค้าอาหารก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต เพียงแต่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ทันความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะสามารถเข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าวได้ "ความร่วมมือระหว่างจังหวัดมิเอะกับประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้การส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปของไทยมีความหลากหลายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น เชื่อว่าจะมีส่วนผลักดันให้การส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในอนาคตทางศูนย์ฯ มีแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่อง เตรียมเปิดให้บริการเช่าใช้เครื่องมือต่างๆ ภายในศูนย์ฯ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารร่วมกัน โดยอาศัยจุดแข็งของกันและกัน เช่น การแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนวัตถุดิบของไทยและจ.มิเอะ ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น" นายวะตะรุ มุระคามิ อธิบดีกรมการจัดหางานและเศรษฐกิจ จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นฐานในความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างไทยและจังหวัดมิเอะ และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของกันและกัน ในวันพิธีเปิดศูนย์ฯ ได้มีการมอบ เครื่องอัดรีดแบบสกรูคู่ (Twin Screw Extruder) ซึ่งใช้สำหรับแปรรูปอาหาร ให้แก่สถาบันอาหาร เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้ ในงานวันนี้ผู้แทนจากจังหวัดมิเอะจะบรรยายเกี่ยวกับสิ่งที่น่าสนใจและการแปรรูปอาหารของจังหวัดมิเอะ ส่วนในช่วงบ่าย จะเป็นการสาธิตและชิมสินค้าอาหารของจังหวัดมิเอะ เช่น เนื้อวัวอิกะ (Iga beef) หอยนางรมอุระมุระ (Uramura oyster) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อปลา (Ise kamaboko) และอาหารจานเคียงสำหรับร้านอาหาร นอกจากนี้ยังจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของจังหวัดมิเอะ อาทิ ผลิตภัณฑ์ซอสถั่วเหลือง จากบริษัทยะมะโมริ (Yamamori) ส้ม Nanki Mie Mandarin และนอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์น้ำส้ม ชาอิเสะ(Ise tea) สาหร่ายทะเลอาโอะสะ (Aosa nori) ที่มีการผลิตมากที่สุดในญี่ปุ่น และเหล้าสาเก เป็นต้น "ความร่วมมือระหว่างจังหวัดมิเอะกับประเทศไทย จะช่วยยกระดับและพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และจะเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะช่วยให้เกิดความร่วมมือที่ขยายวงไปในด้านการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างกันได้ต่อไปในอนาคต" นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย หนึ่งในเครือข่ายของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ได้ให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ในหลากหลายรูปแบบ ให้บริการทดลองผลิตสินค้าต้นแบบ ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารแปรรูปมาอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันอาหารได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป จำนวน 120 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยให้แก่วัตถุดิบทางการเกษตรได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ได้จัดให้มีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) โดยนำคณะผู้ประกอบการไปร่วมกิจกรรมที่จังหวัดมิเอะ และสร้างเครือข่ายกับผู้ซื้อของประเทศญี่ปุ่น "นอกจากนี้สถาบันอาหารยังได้ทดลอง วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับนักวิจัยของ บริษัท ซูเอฮิโระ อีพีเอ็ม (SUEHIRO EPM) ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เครื่องจักรแปรรูปอาหารภายในศูนย์ฯ นำข้าวหอมมะลิมาพัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยวข้าวหอมมะลิอบกรอบรสชาติต่างๆ เช่น รสต้มยำกุ้ง รสมะม่วง รสธัญพืช และนำไปจัดแสดง พร้อมทดสอบชิมในงาน THAIFEX 2019 ซึ่งได้รับผลตอบรับดีจากผู้ที่มาเยี่ยมชมงาน "ผ่าความลับอาหารมิเอะ เสน่ห์เติมเต็มประสบการณ์ผู้บริโภคไทย" ครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อฉลองความร่วมมือครบรอบ 1 ปี ในการดำเนินงานของศูนย์ฯ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และร้านอาหาร เข้าร่วมงานเป็นจำนวน 150 คน จาก 94 หน่วยงาน อนึ่ง ในปี 2562 ทีผ่านมา ไทยมีการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าเกษตรวัตถุดิบที่มีสัดส่วนลดลง พบว่า ไทยส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูปมูลค่า 517,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จากปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.5 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 46.2 ขณะที่การส่งออกอาหารในกลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีมูลค่า 507,623 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.5 ลดลงจากสัดส่วนร้อยละ 53.8 เฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน ในปี 2562 การส่งออกมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 คาดว่าในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5.5 และจะมีมูลค่าการส่งออกราว 7,086 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ