กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--เวเบอร์ แชนด์วิค
ภาคธนาคารในรูปแบบเดิมนั้น เมื่อต้องการทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะถอน โอน หรือฝาก ต้องไปที่ธนาคารเท่านั้น ทำให้การทำธุรกรรมการเงินเป็นเรื่องลำบากและสร้างข้อจำกัดในการใช้จ่ายเป็นอย่างมาก แต่เมื่อธุรกิจร้านค้าออนไลน์เริ่มแพร่หลายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รูปแบบการชำระเงินออนไลน์จึงถูกนำมาปรับใช้มากขึ้นโดยภาคธนาคารเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการตลาดที่เปลี่ยนไป จุดเปลี่ยนของธนาคารเริ่มชัดเจนเมื่อเทคโนโลยีถูกนำมาพัฒนาบริการด้านการเงินอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และเชื่อมต่อเข้าถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ดิจิทัลแบงกิ้ง (Digital Banking) อย่างโมบายเพย์เมนท์และอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งจึงเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ รวมทั้งลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร
เมื่อภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ อีกทั้งรูปแบบธนาคารที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีขีดความสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงินได้โดยไม่จำกัดว่าต้องมาจากอุตสาหกรรมการเงินอย่างเดียวเท่านั้น ปัจจุบันจะเห็นว่าบริษัทและผู้ประกอบการจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งการเงินและที่ไม่ใช่การเงิน พร้อมนำ Fintech มาให้บริการชำระเงินมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อขยายบริการและมอบประสบการณ์ที่ครบวงจรให้กับลูกค้าของพวกเขา และในปี 2019 ที่ผ่านมา ธนาคารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้พัฒนาไปถึงจุดที่เรียกว่าธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) เมื่อธนาคารกลางฮ่องกงได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) ให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มช่องทางบริการทางการเงินเข้าไปในธุรกิจ ซึ่งธนาคารเสมือนจริง คือ ธนาคารที่ให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ตหรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบอื่น เช่น แอพ และเว็บไซต์ เป็นต้น
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะประเทศอินเดีย เวียดนามและไทย ถือว่ามีประชากรที่เกิดในยุคดิจิทัลมากเป็นอันดับต้นๆของโลก จึงเป็นสาเหตุสำคัญของความเปลี่ยนแปลงภาคธนาคารในครั้งนี้ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้ธนาคารผลิกโฉมสู่การเป็นดิจิทัลแบงกิ้ง ที่บัตรเครดิตหรือแม้กระทั่งบัญชีธนาคารไม่มีความจำเป็น และแม้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีความหลากหลายทางด้านระบบการเงิน แต่ทุกประเทศมีตัวแปลที่นำไปสู่การปฏิรูปธนาคารที่เหมือนกัน ตัวแปลสำคัญเหล่านั้น ได้แก่
การเปิดกว้าง: สถาบันการเงินพร้อมปรับใช้ Open Banking
Open Banking หรือแนวคิดในการที่ธนาคารแชร์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าให้กับบุคคลที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินอื่น ผู้ให้บริการต่างๆ หรือบริษัทฟินเทค กำลังเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อบริการทางการเงินทั้งระบบทั่วโลก ภาคธนาคารมีการปรับตัวโดยเปลี่ยนการดำเนินงานแบบเดิมสู่การเน้นการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินตามเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะหันมามุ่งพัฒนาและออกแบบนวัตกรรมตามความต้องการของผู้บริโภคผ่านกระบวนการคิดที่ทำความเข้าใจและเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง นำมาสู่การพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องควบคู่กับความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นบ้าง
เทคโนโลยีได้เปลี่ยนความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อธนาคารในหลายๆ ด้าน จากความคาดหวังในเรื่องข้อเสนอและผลตอบแทนเฉพาะบุคคล สู่ความคาดหวังในเรื่องความสะดวกสบายในการใช้บริการด้านดิจิทัล สู่การที่ผลิตภัณฑ์และบริการจะต้องเป็นไปตามความพึงพอใจของผู้บริโภค บรรทัดฐานใหม่เหล่านี้และความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นตัวการที่คอยขับเคลื่อนการแข่งขันระหว่างธนาคารในการสร้างนวัตกรรม
นอกจากจะคอยกระตุ้นการแข่งขันและสร้างนวัตกรรมแล้ว Open Banking ยังช่วยสร้างสังคมแห่งความร่วมมือที่มีการยินยอมของผู้บริโภคในการเปิดเผยข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนการแชร์ข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินและบริษัทฟินเทค ที่ท้ายที่สุดสร้างผลประโยชน์ต่อตัวผู้บริโภคเอง และนี่คือจุดเปลี่ยนที่กำลังเกิดขึ้น ผู้เล่นที่จะประสบความสำเร็จคือผู้ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภคได้มากที่สุดในเชิงของผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการมีความรับผิดชอบต่อการใช้ข้อมูลของผู้บริโภค
เกมวิ่งไล่จับ: การรับมือไซเบอร์แอทแทคของธนาคาร
มากกว่าครึ่งของบริษัทเอกชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเคยโดนโจรกรรมข้อมูล หรือบางรายอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้อมูลกำลังรั่วไหล ทำให้เกิดความเสียหายกว่า 1.745 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 54 ล้านล้านบาท) ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรั่วไหลของข้อมูลเพียงครั้งเดียวสามารถสร้างความเสียหายต่อบริษัทได้มากถึง 2.62 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 81.6 ล้านบาท) โดยเฉลี่ย ซึ่งความล้มเหลวในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือไซเบอร์แอทแทค สามารถทำให้ธนาคารเสียหายในระยะยาวทั้งด้านการเงินและชื่อเสียง
การขยายตัวของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) และการเข้ามาของ Open Banking ในรูปแบบต่างๆ ทำให้ธนาคารแข่งกันสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่เหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นการเปิดทางให้กับไซเบอร์แอทแทค ดังนั้นธนาคารจำเป็นต้องลงทุนในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการตรวจสอบและระบุตัวตนของผู้ใช้บริการ โดยดูจากพฤติกรรมการใช้งาน (Behavioral Biometrics) เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยเมื่อใช้บริการของธนาคาร ปัจจุบัน ด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ธนาคารกำลังพัฒนามาตรการป้องกันรอบด้านเพื่อรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อปกป้องข้อมูลของผู้บริโภค
มาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพและได้ผลควรถูกนำไปใช้ในทุกส่วนขององค์กรตามความเหมาะสมและปรับเปลี่ยนเมื่อมีการพัฒนา นอกจากนี้ การประเมินความเสี่ยงและการลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาจะช่วยให้ธนาคารได้รับประโยชน์คืนจากการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
ชีวิตไร้เงินสด: ฟินเทคช่วยผลักดันการเข้าถึงบริการทางการเงินและการเติบโตไปด้วยกัน
แม้ว่าเกือบสามในสี่ของผู้ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง (ในส่วนของประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 18 ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร) และร้อยละ 33 ของผู้ประกอบการขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม แต่ด้วยดิจิทัลแบงกิ้งและเทคโนโลยีทางการเงินของบริษัทฟินเทค กำแพงทางการเงินจึงถูกทลายลง เพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างโมบายเพย์เมนท์และอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ทำให้ตอนนี้มูลค่าการชำระเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตเป็น 2 เท่าของภูมิภาคอื่นทั่วโลก
ชัยชนะในสมรภูมิดิจิทัลแบงกิ้งหรือฟินเทคจะถูกตัดสินด้วยความสามารถในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินมากกว่าการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เมื่อธุรกิจเหล่านี้มีฐานลูกค้าที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น พวกเขาจะต้องพัฒนาธุรกิจแบบองค์รวมแทนที่จะพัฒนาเพื่อลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะผู้ที่อยู่นอกระบบนิเวศทางการเงินยังมีอีกมาก แรงจูงใจเพื่อดึงให้ประชากรกลุ่มดังกล่าวก้าวเข้าสู่ระบบการเงินที่มีความแปลกใหม่จึงต้องมีความชัดเจน ซึ่งนั่นหมายถึงความเข้าใจที่มากขึ้นถึงความต้องการของประชากรที่อยู่นอกระบบนิเวศของการเงินและการธนาคาร ส่วนกลุ่มธุรกิจที่สามารถเชื่อมต่อจุดเหล่านี้เข้าด้วยกันได้แล้ว ผลตอบแทนนับว่ามหาศาล ทั้งต่อตัวบริษัทเองและเศรษฐกิจในมุมกว้าง