กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง เตรียมประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทยตอนกลาง ประจำปี 2563 ในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2563 ต่อด้วยเขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเลและพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน เผยผลการศึกษาพบมาตรการฯ ที่บังคับใช้ สอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน โดยมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย หรือที่เรียกว่า "ปิดอ่าวไทย" คือ แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก และเป็นภารกิจหลักของกรมประมงที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้มีการประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย มาอย่างยาวนานกว่า 67 ปี แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากสถิติการตรวจสอบเก็บข้อมูลทางวิชาการ ทั้งในเรื่องของจำนวน และความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ พบว่า จำนวนสัตว์น้ำในกลุ่มปลาทูลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันในอดีต ซึ่งนั่นก็มาจากหลายเหตุปัจจัย ทั้งเรื่องของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ความต้องการของผู้บริโภค และมีเรือประมงบางส่วนที่ใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาทำการประมงในพื้นที่ ประกอบกับเมื่อมีการติดตามสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำในแต่ละปีหลังจากมาตรการปิดอ่าว พบว่าลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่เกิดขึ้นในช่วงมาตรการและอาศัยอยู่ในแนวชายฝั่งถูกจับขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุของปริมาณสัตว์น้ำที่ลดจำนวนลงทั้งสิ้น
แต่เมื่อหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งมีมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ทำให้จำนวนประชากรสัตว์น้ำเริ่มฟื้นฟูกลับคืนมาจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการใช้มาตรการอนุรักษ์อย่างเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงมากนัก เมื่อปี พ.ศ. 2561 กรมประมงได้มีการออกประกาศ ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 เพื่อกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูปิดอ่าวไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
พื้นที่ปิดอ่าวไทยตอนกลาง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 27,000 ตารางกิโลเมตร บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี (เขต 1) ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15
พ.ค.ของทุกปี และ ได้กำหนดให้เครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มประมงขนาดเล็กซึ่งไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ดังนี้
(1) เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งด้วย
(2) เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และต้องใช้ช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป กรณีที่ชาวประมงต้องการใช้เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ จะต้องใช้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น
(3) เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง
(4) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
(5) ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
(6) ลอบหมึกทุกชนิด
(7) ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้าน. สามารถทำการประมงได้ในเขตทะเลชายฝั่ง
(8) คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
(9) อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ
(10) จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
(11) เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า
ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือตามประเภท วิธีการทำการประมงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ทำการประมง ยกเว้นอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560
นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดให้หลังเปิดอ่าวตอนกลางแล้ว ให้ปิดอ่าวต่อที่เขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเล และพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ฯ สอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจากการสุ่มเก็บตัวอย่างประชากรปลาทูช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าจำนวน อายุ และขนาดความยาวของปลาทู สามารถบ่งชี้ถึงความหมาะสมของการใช้มาตรการปิดอ่าวไทยฯ ดังนี้
- ช่วงการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าว 15 ก.พ. – 15 พ.ค. ระยะเวลา 90 วัน ประจวบฯ ชุมพร สุราษฎร์ฯ : พ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศ ผสมพันธุ์ และมีการแพร่กระจายของลูกปลาทู-ปลาลัง และปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศใช้มาตรการฯ
- ช่วงต่อเนื่องระยะ 7 ไมล์ทะเล 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. ระยะเวลา 30 วัน ในอ่าวตอนกลาง : ลูกปลาวัยอ่อนที่เกิดบริเวณพื้นที่มาตรการมีโอกาสเลี้ยงตัวบริเวณชายฝั่ง
- ช่วงพื้นที่อ่าวประจวบฯ จากเขาตาม่องไล่ ถึง อ.หัวหิน 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. ระยะเวลา 30 วัน : ลูกปลาขนาดเล็กเดินทางเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก
และเมื่อถึงวันที่ 15 มิ.ย. – 30 ก.ย. กรมประมงก็จะมีการประกาศปิดอ่าวตัว ก เพื่อรักษาปลาทูสาวให้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ และพร้อมเดินทางลงไปผสมพันธุ์วางไข่ในช่วง ก.พ. (ปิดอ่าวไทย)
จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวนี้สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้คืนกลับมาได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้ในการประกอบอาชีพได้อย่างดี และ ประชาชนคนไทยได้มีสัตว์น้ำบริโภคตลอดไป อีกทั้ง กรมประมงยังมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวไทยฯ ในแต่ละห้วงเวลานั้นช่วยทำให้เกิดกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชาวประมงเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่า
สุดท้ายนี้ กระทรวงเกษตรฯ ขอฝากพี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมงโดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้เท่านั้น เครื่องมืออื่น ๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย