กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งเป็นนโยบายภารกิจเร่งด่วน (Quick Win) มีเป้าหมายในการสร้าง Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับพัฒนาภาครัฐ ภาคเอกชนและเกษตรกรไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการแก่ประชาชนในการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ทั้งในการนำเข้า ส่งออก และการเคลื่อนย้ายภายในประเทศผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้มีแนวความคิดในการพัฒนาระบบต่อยอดในการให้บริการให้มีความทันสมัย ลดขั้นตอน ลดระยะเวลา เน้นการบริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกในการขอรับบริการจากกรมปศุสัตว์
กรมปศุสัตว์ โดยกองสารวัตรและกักกัน ได้ดำเนินการเปิดใช้งานระบบ e-Movement โฉมใหม่เต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน โดยมีการนำลายเซ็นดิจิทัลมาใช้ในการลงนามเพื่อออกใบอนุญาตทำการค้าสัตว์ ซากสัตว์ น้ำเชื้อและเอ็มบริโอ โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ซึ่งมีความปลอดภัย ทันสมัย และสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของใบอนุญาตได้ อีกทั้งยังผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับบริการและเจ้าหน้าที่สามารถส่งข้อมูลติดต่องานกันได้ผ่านระบบออนไลน์ ทุกภาคส่วนจะก้าวสู่ยุคสังคมไร้กระดาษ เพื่อสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและการให้บริการประชาชนแบบไร้รอยต่อ ทั้งนี้ ในการพัฒนาโครงการต่อไป กรมปศุสัตว์จะทำการผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีปริมาณการออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายจำนวนมากให้บันทึกข้อมูลใบอนุญาตลงในบัตร Smartcard ทดแทนการพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษ ซึ่งจะสามารถลดปริมาณการใช้กระดาษในกระบวนการได้หลายล้านแผ่นต่อปีได้ ซึ่งในขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนใช้งานในระบบ e-Movement กว่า 150,000 ราย และมีการออกใบอนุญาตผ่านระบบกว่า 600,000 ครั้ง
การพัฒนาระบบงานของกรมปศุสัตว์นั้น สามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้จากการรับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ (รางวัลเลิศรัฐ) ที่ได้รับจากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้รางวัลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ e-Movement นี้ จากผลงานการออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร ในปี 2557 และจากผลงานระบบการตรวจสอบสัตว์และซากสัตว์ผ่านด่านอัตโนมัติ (e-Movement Smart Kiosk) ในปี 2562 จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของกรมปศุสัตว์ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ กรมปศุสัตว์จึงไม่หยุดที่จะพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนและการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับการให้บริการประชาชนต่อไป