การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ย้ำเตือนพี่น้องชาวสวนยางวิธีป้องกันและกำจัดที่ถูกต้อง เมื่อเจอโรคใบร่วงรุนแรงอุบัติใหม่ในยางพารา

ข่าวทั่วไป Thursday February 6, 2020 16:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--การยางแห่งประเทศไทย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจและปฏิบัติการ กล่าวว่า สถานการณ์โรคใบร่วงรุนแรงอุบัติใหม่ในยางพารา ขณะนี้ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากเชื้อราที่ฟุ้งกระจายในอากาศ ส่งผลให้ยางพาราใบร่วง น้ำยางลดลง และยืนต้นแห้งตาย ขอแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนยางหมั่นสังเกตอาการแสดงของโรค คือใบยางพาราจะมีแผลจุดบนใบและใบร่วง เป็นแผลลุกลามจากส่วนยอดต้นแห้งตาย ขณะเดียวกันใบยางที่ร่วงจะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อ วิธีป้องกันและกำจัดที่ถูกต้องหากพบว่า สวนยางเป็นโรคนี้ให้เกษตรกรพ่นด้วยยา แมนโคเซป 2 – 3 ครั้ง ติดต่อกัน สลับด้วยยาดูดซึม 1 ครั้ง เช่น คาร์เบนดาซิม หรือ โพรพิเนบ หรือ คลอโรธาโรนิล หรือ เฮกซาโคนาโซล ตามอัตราแนะนำในฉลาก กำจัดใบร่วงที่เป็นโรคด้วยการเก็บรวบรวมทำลายโดยการฝังกลบ หรือกองรวมกันโรยด้วยปูนขาว (80 – 100 กก. ต่อไร่) ตามด้วยยูเรีย (8 – 10 กก. ต่อไร่) และรดน้ำตาม เพื่อเป็นการทำลายเชื้อ จากนั้นบำรุงต้นยางด้วยการใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นยางมีความแข็งแรงและต้านทานเชื้อได้ดีขึ้น รองผู้ว่าการกล่าวย้ำว่า ห้ามเกษตรกรเคลื่อนย้าย ต้นพันธุ์ กิ่งตา รวมถึงก้านใบจากแหล่งที่เกิดโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไปสู่แหล่งอื่น หากเกษตรกรมีข้อสงสัยหรือพบความผิดปกติของต้นยางพาราสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กยท. ใกล้บ้าน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ