กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและรับทราบผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งของหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้กล่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมในปัจจุบัน พร้อมความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาสถานการณ์แล้ง โดยได้มอบหมายสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ บูรณาการติดตาม สถานการณ์ อย่างใกล้ชิด และระดมเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา การขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ของประเทศ จะไม่มีการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งปีนี้ รวมถึงต้องมีการเตรียมการหาพื้นที่เก็บกักน้ำในฤดูฝนที่จะถึงเพื่อให้เพียงพอใช้ในฤดูแล้งปีถัดไป โดยให้ สทนช.รวบรวมและกลั่นกรองแผนงานโครงการเร่งด่วน ประเภทเก็บกักน้ำที่สามารถดำเนินการได้เสร็จทันรับน้ำในฤดูฝนปีนี้
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์แล้งที่อาจส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน และร่วมบูรณาการลงพื้นที่ติดตามสำรวจให้ความช่วยเหลือทุกพื้นที่ประสบภัยให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด รวมถึงเร่งจัดหาน้ำ จูงน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนนี้ เพื่อใช้ในฤดูแล้งถัดไปด้วย ซึ่งการประชุมในวันนี้นอกจากนายกรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำแล้งปี 2562/63 หน่วยงานต่าง ๆ บูรณาการการทำงานร่วมกันภายในกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีแล้ว สทนช. ยังได้เสนอต่อที่ประชุมพิจารณาแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563 ซึ่ง สทนช. ได้ดำเนินการคัดกรองโครงการตามลำดับความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่มีความพร้อม และสามารถจะดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี 7 ม.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากผลการรวบรวมเบื้องต้น พบว่ามีโครงการที่ตรงตามหลักเกณฑ์ จำนวนกว่า 3,000 โครงการ สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 781 ล้าน ลบ.ม. และในจำนวนนี้แบ่งเป็นโครงการเร่งด่วนในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 511 โครงการ เพิ่มน้ำต้นทุนได้ 129 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว
สำหรับโครงการเร่งด่วนที่ผ่านการคัดกรองเป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยแล้ง มุ่งเน้นการเก็บกักน้ำเพื่อเตรียมรับมือช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง ส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก แบ่งประเภทโครงการออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย 1) ขุดลอกและปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ได้แก่ บึง กุด หนองน้ำธรรมชาติ อาคารแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่เดิม งานปรับปรุงอาคารและองค์ประกอบ หรือโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์ในการเก็บกักน้ำ 2) ขุดแหล่งเก็บน้ำใหม่ ได้แก่ การขุดสระน้ำหรือแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่สาธารณะ หรือแก้มลิง ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในส่วนรวม 3) ฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือป่าเสื่อมโทรม และ 4) ขุดบ่อบาดาล
"ขณะนี้ สทนช. ได้ประสานงานผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ส่วนราชการระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำเสนอแผนงานโครงการที่เป็นความต้องการของชุมชนเสนอเข้ามาเพิ่มเติมภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด ภายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อรวมรวบแผนงานโครงการทั้งหมดเสนอต่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน/โครงการ แล้วจึงเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาในระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการข้างต้นแล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายนนี้ตามเป้าหมาย" ดร.สมเกียรติ กล่าว.