ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดจันทรสุข อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี (รังสิตนครนายก ซอย ๕๖) ได้ตั้งแต่วันที่ ๖-๑๖ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.๒๕๖๓

ข่าวทั่วไป Friday February 7, 2020 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--pirom68communications สำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ วันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ ตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชา หรือ "มาฆบูรณมี" ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ทางวัดจันทรสุข นำโดย พระครูธรรมธรสัมพันธ์ ถิรธมโม เจ้าอาวาสวัดจันทรสุข(ศูนย์ปฎิบัติธรรมนาลันทารังสิต) ประธานฝ่ายภิกษุสงฆ์ ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ปฎิบัติธรรม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทย ได้ตั้งแต่วันที่ ๖-๑๖ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.๒๕๖๓ ณ วัดจันทรสุข อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี (รังสิตนครนายก ซอย ๕๖) ภายในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย ประวัติ วันมาฆบูชา "มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปฎิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป โอวาทปาฏิโมกข์ โอวาทปาฏิโมกข์ - หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุ วนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถา โอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน) สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่กล่าวร้าย, การไม่ทำร้าย, ความสำรวมในปาฏิโมกข์, ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร, ที่นั่งนอนอันสงัด, ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า "ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส" คำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ "จาตุร" แปลว่า ๔ "องค์" แปลว่า ส่วน "สันนิบาต" แปลว่า ประชุม ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ ๑. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย ๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์ ๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำถวายดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดินเวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัดเตรียมไว้เป็นอันเสร็จพิธี กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา ๑. ทำบุญใส่บาตร ๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา ๓. ไปเวียนเทียนที่วัด ๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ ขอบคุณข้อมูล : ธรรมะไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ