กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--กรมส่งเสริมการเกษตร
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ตามที่สำนักข่าวทีเอ็นเอ็นไทยแลนด์รายงานว่า ได้เกิดภัยแล้งหนักในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากน้ำในคลองธรรมชาติแห้งขอดจนทำให้ลำไยยืนต้นตาย เกษตรกรต้องซื้อน้ำมารดสวนลำไย ทำให้ต้นทุนสูงนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่าจังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่ปลูกลำไยทั้งหมด 211,955 ไร่ พื้นที่ให้ผล 208,453 ไร่ ปีการผลิต 2562/63 ให้ผลผลิต 218,000 ตัน พื้นที่ปลูกส่วนมากอยู่ในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว เริ่มเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ถึง มีนาคม 2563 ปัจจุบันเหลือผลผลิตที่ยังไม่เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 12,000 ตัน สำหรับพื้นที่ที่เกิดกระแสข่าวดังกล่าว เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ซึ่งในอดีตเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก แต่เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาลำไยมีราคาสูง จึงทำให้เกษตรกรหันไปเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก โดยส่วนใหญ่จะใช้น้ำจากคลองธรรมชาติ และแย่งกันใช้จนแหล่งน้ำแห้งในที่สุด สำหรับสระเก็บน้ำที่เกษตรกรขุดไว้ ไม่สามารถเก็บน้ำได้เพราะส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังปนดินร่วนมีหินปะปน อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ฤดูแล้ง ปี 2562/63 จำนวน 8 มาตรการ และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดทั้งสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พร้อมออกให้คำแนะนำด้านวิชาการที่ถูกต้องในการดูแลรักษาผลผลิตแก่เกษตรกร รวมทั้งเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรโดยด่วนต่อไป
ด้านนายปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า อำเภอโป่งน้ำร้อน มีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง คือ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3 ตำบลคลองใหญ่ พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ผลผลิตลำไยประมาณ 360 ตัน เป็นพื้นที่ที่ยังไม่เก็บเกี่ยวผลผลิต จำเป็นต้องซื้อน้ำรด เนื่องจากน้ำในสระเก็บน้ำในสวนและบริเวณคลองธรรมชาติข้างเคียงแห้งขอด โดยจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2563 นี้ ส่วนพื้นที่หมู่ที่ 1, 4, 7 ตำบลเทพนิมิต หมู่ที่ 4 หนองตาคง พื้นที่รวมประมาณกว่า 300 ไร่ เป็นพื้นที่ซึ่งต้นลำไยเหี่ยวเฉาแต่ยังไม่ตาย หากมีฝนตกก็จะฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดได้ประสานงานไปยังหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรีแล้ว แต่สภาพอากาศยังไม่พร้อมจะทำฝนเทียม และได้ประสานงานช่วยเหลือในการขุดน้ำบาดาลแล้ว ส่วนอำเภอสอยดาว พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง คือ หมู่ที่ 1, 6, 12 ตำบลสะตอน หมู่ที่ 1 ตำบลทับช้าง และหมู่ที่ 1, 6, 12 ตำบลทรายขาว พื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ผลผลิตที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวมีประมาณ 40 ตัน แต่ลำไยที่ยืนต้นตายยังไม่พบ ส่วนใหญ่เป็นเพียงใบเหี่ยว สลด เพราะขาดน้ำถ้ามีฝนตกก็จะฟื้นตัวเช่นกัน
สำหรับมาตรการแก้ไขที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือ 1. แจ้งให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นสำรวจพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อไปแล้ว 2. สำนักงานชลประทาน และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้เพิ่มรถบรรทุกน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มจากเดิมที่ให้เพื่อการอุปโภคบริโภคในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา 3. การขุดลอกคูคลองธรรมชาติเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ทำกระสอบทรายกั้น ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นได้เสนอของบประมาณเพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลด้วยแล้ว 4. สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอได้ให้การอบรมแก่เกษตรกรเกี่ยวกับการใช้น้ำให้เหมาะสมกับอายุไม้ผล โดยเปลี่ยนมาใช้หัวสปริงเกอร์ที่ใช้น้ำน้อยแทน และ 5. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำทั้งระยะใกล้ระยะไกล แต่ยังทำได้น้อยเนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำ นอกจากนี้ ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา ควรเร่งสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นในลุ่มน้ำโตนเลสาปซึ่งเป็นลุ่มน้ำขนาดเล็ก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสระแก้วและจังหวัดจันทบุรี เช่น อ่างเก็บน้ำเครือหวาย อ่างเก็บน้ำโป่งน้ำร้อนตอนบน อ่างเก็บน้ำคลองแจง อ่างเก็บน้ำกันทึม อ่างเก็บน้ำคลองตาดำ อ่างเก็บน้ำคลองตาพลาย ส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในแผนที่สร้างอ่างเก็บน้ำ ควรปรับแผนการปลูกพืช เช่น มันสำปะหลัง หรือ ข้าวโพด แทน