กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ 5G ในประเทศไทยที่จะมีการจัดขึ้นในเร็วๆนี้ น่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการที่ชนะการประมูล มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมจำนวน 5 รายที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ซึ่งมีจำนวนจำกัด ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 โดยผู้ชนะการประมูลจะมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความคล่องตัวทางการเงินลดลงในช่วงที่มีภาระการลงทุนที่สูงขึ้น
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. จะทำการจัดประมูลคลื่นย่านความถี่ต่ำ 700MHz จำนวน 2x15MHz, คลื่นย่านความถี่กลางได้แก่ คลื่น 1.8GHz จำนวน 2x35MHz คลื่น 2.6GHz จำนวน 190MHz และคลื่นย่านความถี่สูง 26GHz จำนวน 2700MHz ผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 5 รายประกอบด้วยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ), บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ), และผู้ประกอบการโทรคมนาคมของรัฐ ซึ่งได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการน่าจะให้ความสนใจในการประมูลคลื่น 2.6GHz ซึ่งเป็นคลื่นที่ให้ประโยชน์สูงสุดในการให้บริการ 5G ทั้งในด้านความครอบคลุมพื้นที่การใช้งาน (Coverage) และเพิ่มปริมาณการใช้งาน (Capacity) ของโครงข่าย อ้างอิงจาก GSM Association การให้บริการโครงข่าย 5G ของผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องใช้คลื่นย่านความถี่กลางที่ต่อเนื่องจำนวนอย่างต่ำ 80MHz-100MHz เพื่อให้บริการ 5G อย่างมีประสิทธิภาพ คลื่นย่านความถี่กลาง (2.6GHz) จำนวน 190MHz ที่นำมาประมูลครั้งนี้ ไม่น่าจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลทุกราย ถึงแม้ว่ายังมีคลื่นย่านความถี่กลาง 3.5GHz ที่สามารถนำออกมาประมูลสำหรับการให้บริการ 5G ในอนาคต แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าคลื่นความถี่ดังกล่าวจะสามารถนำมาประมูลได้เมื่อไหร่ เนื่องจากคลื่นความถี่ดังกล่าวยังถูกใช้ในกิจการสื่อสารผ่านดาวเทียมในประเทศไทยอยู่
ฟิทช์คาดว่า AIS ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศ น่าจะสามารถรองรับการลงทุนคลื่นความถี่ 5G และการลงทุนด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การชำระเงินค่าคลื่นความถี่ซึ่งสามารถชำระเป็นงวดภายใน 10 ปี น่าจะช่วยลดผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทในระยะสั้น AIS มีความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต (Rating Headroom) ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-adjusted net leverage) ของ AIS อยู่ที่ 1.4 เท่า ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งต่ำกว่า ระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต ซึ่งอยู่ที่ 2.0 เท่า
เมื่อเปรียบเทียบแล้ว หาก DTAC ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับที่ 3 ของประเทศ ชนะการประมูล อาจทำให้อัตราการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ DTAC ช้ากว่าที่คาดเนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับค่าคลื่นความถี่ 5G และการลงทุนเพิ่มเติม DTAC มีสถานะทางการเงินที่ตึงตัวเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนในแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็นลบ โดย ณ สิ้นปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิของ DTAC อยู่ที่ 2.8 เท่า ซึ่งสูงกว่าระดับ 2.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิดังกล่าวจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 2.5 เท่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากกำไรที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น