CEPI เร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019

ข่าวทั่วไป Tuesday February 11, 2020 14:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--เอบีเอ็ม คอนเนค กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด หรือ (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) ประกาศความร่วมมือกับบริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น หรือ จีเอสเค ซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนาวัคซีนนวัตกรรมที่สามารถใช้กับระบบสารเสริมฤทธิ์ประเภทต่างๆ เพื่อนำเทคโนโลยีด้านสารเสริมฤทธิ์ของจีเอสเค ไปใช้พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดทั่วโลก สารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เป็นสารประกอบที่ใส่ลงในวัคซีนบางชนิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันมีความแข็งแรงและออกฤทธิ์นานกว่าเดิม เพื่อให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ดีกว่าการใช้วัคซีนเพียงอย่างเดียว การใช้สารเสริมฤทธิ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค เพราะช่วยลดปริมาณของแอนติเจนที่ต้องผสมลงในวัคซีน ช่วยให้ผลิตวัคซีนได้เพิ่มขึ้นและทำให้สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น กลุ่มพันธมิตร CEPI ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับโลก จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาวัคซีนที่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ จะทำงานร่วมกับจีเอสเคและหน่วยงานที่ได้รับเงินทุนในการศึกษาวิจัยวัคซีนจาก CEPI ที่มีความประสงค์จะทดสอบวัคซีนของตนร่วมกับเทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์ของจีเอสเคเพื่อพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทั้งนี้ จีเอสเคได้ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นกับมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียในการร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มการใช้วัคซีนชื่อ 'molecular clamp' เพื่อช่วยให้สามารถผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดย CEPI ได้เพิ่มเงินทุนช่วยเหลือในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 พร้อมอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์ของจีเอสเคในช่วงแรกเริ่มของการศึกษาวิจัยนี้ โดย CEPI ได้สนับสนุนทุนสำหรับโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ บริษัท CureVac บริษัท Inovio บริษัท Moderna Inc. และสถาบันโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติสหรัฐอเมริกา รวม 4 โครงการ ในการพัฒนาความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อดังกล่าวให้สำเร็จและสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้าในการพัฒนาวัคซีนทดลองป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เข้าสู่การทดสอบทางคลินิกให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ CEPI ยังเปิดรับข้อเสนอใหม่สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัคซีนที่ได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ โดยจะเปิดรับข้อเสนอจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ดร. ริชาร์ด แฮทเช็ทต์ ซีอีโอของ CEPI กล่าวว่า "การได้รับอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์ที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกของ GSK ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยเมื่อผสานระบบสารเสริมฤทธิ์ของจีเอสเคเข้ากับเทคโนโลยีการใช้งานรูปแบบใหม่ที่เราดำเนินการอยู่นี้จะช่วยเพิ่มให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว การลดปริมาณการใส่แอนติเจนในวัคซีนป้องกันโรคจะช่วยประหยัดปริมาณการใช้แอนติเจนทำให้สามารถผลิตวัคซีนได้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น" โธมัส บริวเออร์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ จีเอสเค วัคซีน กล่าวว่า "จีเอสเคพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ด้วยการใช้ระบบสารเสริมฤทธิ์ที่ทันสมัยของจีเอสเค ซึ่งเทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์นี้เคยถูกนำมาใช้ในการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่จนเป็นผลสำเร็จมาแล้ว โดยการใช้เทคโนโลยีสารเสริมฤทธิ์จะช่วยลดการใช้แอนติเจนในการผลิตวัคซีน ทำให้สามารถผลิตวัคซีนในปริมาณมากกว่าเดิมส่งผลให้มีวัคซีนแพร่หลายไปสู่ผู้คนมากยิ่งขึ้น" โรเจอร์ คอนเนอร์ ประธานกรรมการ จีเอสเค วัคซีน กล่าวว่า "จีเอสเคเชื่อมั่นในคุณค่าและความสำคัญที่ CEPI จะนำมาใช้จัดการกับการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จีเอสเคมีความยินดีและภูมิใจที่มีส่วนร่วมสนับสนุนงานศึกษาวิจัยอันทันสมัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ และเปิดรับโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรอื่น ๆ ที่มีผลงานด้านวัคซีนที่จะสามารถพัฒนาและใช้งานควบคู่กับสารเสริมฤทธิ์ของเรา" ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฮอจ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวว่า "ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์กำลังดำเนินโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยนำสารเสริมฤทธิ์ของจีเอสเคมาใช้งานร่วมกันในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถทำการทดลองเบื้องต้นที่สำคัญเพื่อประเมินค่าประสิทธิภาพของวัคซีน"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ