กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ส่งเสริมการออมให้กับผู้ประกันตน เพื่อจ่าย สิทธิประโยชน์ให้ในวัยชรา ในรูปของบำเหน็จ บำนาญชราภาพ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีเงินออม ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพได้หลังวัยเกษียณ
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุปันคนไทยในวัยทำงานจำนวนกว่า 12 ล้านคน ได้มีการออมเพื่อวัยเกษียณผ่านระบบการออมต่างๆ ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ครอบคลุมข้าราชการจำนวน 1.1 ล้านคน กองทุนประกันสังคมกรณี ชราภาพ ครอบคลุมพนักงานเอกชนจำนวน 9.18 ล้านคน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ครอบคลุมพนักงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 ล้านคน โดยที่เงินออมทั้ง 3 ระบบมีจำนวนรวมกันมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท การส่งเสริมให้เกิดการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ นอกจากจะช่วยดูแลสวัสดิการและ ความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ยังส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ช่วยให้ ภาคเศรษฐกิจไทยได้มีแหล่งเงินนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ ซึ่งรัฐบาลเองมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการออมภายใต้เงื่อนไขของการใช้จ่ายประจำวันอย่างประหยัด โดยสนับสนุนให้มีการออมในระดับครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
นับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนกรณีชราภาพเมื่อปี พ.ศ. 2542 สำนักงานประกันสังคมได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการออมจากผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศ โดยให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบในช่วงที่ทำงานเพื่อออมไว้ในรูปของบำเหน็จบำนาญไว้ยังชีพในยามชรา โดยในจำนวนเงินสมทบ 5% ที่ผู้ประกันตนส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น 3% เป็นเงินออมกรณีชราภาพ นายจ้างช่วยสมทบอีก 3% รวมเป็น 6% ซึ่งสำนักงานประกันสังคมออมไว้เตรียมจ่ายเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ ในขณะนี้ ผู้ประกันตนจำนวน 9.18 ล้านคนมีเงินออมรวมกันมากถึง 4 แสนล้านบาท
เมื่อผู้ประกันตนเกษียณจากการทำงาน โดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ หากสมทบมากกว่า 1 ปี แต่ไม่ครบ 15 ปี จะได้รับ “บำเหน็จ” เป็นเงินก้อนเท่ากับเงินสมทบของตนเองและของนายจ้างที่สะสมไว้ บวกดอกผลจากการลงทุน หากสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ปี จะมีสิทธิรับ “บำนาญ” จ่ายเป็นรายเดือน ทุกเดือนตลอดชีวิต โดยจำนวนเงินบำนาญคำนวณจากสูตรเท่ากับ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (เงินเดือน ขั้นต่ำ 1,650 บาท - ขั้นสูง 15,000 บาท) แต่ถ้าหากคนงานสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญส่วนเพิ่ม เท่ากับ 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุกๆ ปี
ตัวอย่าง น.ส.จันทรา เริ่มทำงานเมื่ออายุ 20 ปี ได้เงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท สมทบเข้ากองทุนเพื่อเป็นเงินออมชราภาพ 3% ของเงินเดือน คือ 10,000 x 3% = 300 บาท นายจ้างสมทบอีก 300 บาท รวมเงินออม 600 บาทต่อเดือน หาก น.ส.จันทรา ทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 35 ปี แล้วออกจากงาน ครบเงื่อนไขคือเกษียณที่อายุ 55 ปี และสมทบเกินกว่า 180 เดือน มีสิทธิรับบำนาญจำนวน (20% x 10,000) + (1.5% x 20 ปี ที่สมทบเพิ่ม x 10,000) = 5,000 บาทต่อเดือนทุกเดือนตลอดชีวิต
หากนายจ้างหรือผู้ประกันตนท่านใดมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 — 19.00 น.