กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
อธิบดีกรมสุขภาพจิต เยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บจากเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา พบกำลังใจดีขึ้น เผยผลการปฏิบัติงานของ 15 ทีมเยียวยาจิตใจหรือเอ็มแคทในรอบ 3 วัน ลงปฏิบัติงาน 12 จุดเต็มพิกัด เช่นที่ห้างสรรพสิค้าเทอร์มินอล 21 วัดป่าศรัทธารวม ขณะนี้ดูแลครอบคลุมกลุ่มเร่งด่วนคือผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตรวม 88 คนและญาติครบถ้วน ผลการตรวจสุขภาพจิต 247 คน พบเครียดระดับสูง 91 คน ในจำนวนนี้ 9 คนหวาดกลัวรุนแรง วันนี้ลงปฏิบัติการ 7 จุด 8 ทีม
เช้าวันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2563) ที่รพ.มหาราชนครราชสีมา นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บจากเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ที่พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.มหาราชฯจำนวน 21 คน และเยี่ยมให้กำลังใจทีมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการดูแลช่วยเหลือประชาชนทั้งทางกายและใจ โดยมีนายแพทย์ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการ รพ.มหาราชนครราชสีมา และนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครราชสีมา ให้การต้อนรับ
นายแพทย์เกียรติภูมิ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการพูดคุยกับผู้บาดเจ็บและญาติพบว่าทุกคนมีขวัญกำลังใจดีขึ้น บางคนยังมีความวิตกกังวลอยู่บ้าง โดยในส่วนของการดูแลผลกระทบทางจิตใจในภาพรวมนั้น ขณะนี้กรมฯได้ระดมทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติหรือทีมเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ทั้งในและนอกสังกัดจำนวน 15 ทีมรวม 73 คน มีผู้เชี่ยวชาญทั้งผู้ใหญ่ เด็กและวัยรุ่นให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุครั้งนี้ โดยได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการทีมเอ็มแคทฉุกเฉินอยู่ที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ มีนายแพทย์ชินโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นผู้บัญชาการศูนย์ และมีนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อให้การทำงานครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สภาพจิตจิตใจของประชาชนฟื้นคืนกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วและมีความปลอดภัยที่สุด
ทั้งนี้ได้จัดแผนการดูแลออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ปฏิบัติงานเต็มพิกัด กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้รอดชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งหมด 88 คน ประกอบด้วยครอบครัวของผู้เสียชีวิต 30 ราย บาดเจ็บ 58 คน ซึ่งผู้บาดเจ็บขณะนี้รักษาและกลับบ้านแล้ว 28 คน ยังเหลือนอนพักรักษาตัวที่ รพ. 25 คน ทีมเอ็มแคทได้ดูแลจิตใจกลุ่มนี้ทั้งหมดแล้ว ผลการประเมินสภาวะทางจิตใจในรอบ 3 วัน ระหว่าง 8-10 กุมภาพันธ์ 2563 ตรวจทั้งหมด 247 คน พบเครียดในระดับสูง 91 คน ในจำนวนนี้พบมี 9 คน มีอาการหวาดกลัวรุนแรง นอนไม่หลับ ต้องให้การรักษาเพื่อคลายเครียด อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่และติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เหลืออีก 156 คนเครียดระดับน้อยถึงปานกลาง ได้ให้การปฐมพยาบาลทางใจและปรึกษาคลายเครียด และจะติดตามประเมินเป็นระยะๆ ตามแผน
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับในกลุ่มของผู้เสียชีวิต 30 ราย ซึ่งมีภูมิลำเนาใน9 จังหวัดดังนี้ จ.นครราชสีมา 20 ราย กทม. 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย นราธิวาส 1 ราย บุรีรัมย์ 2 ราย ที่ราชบุรี สมุทรสาคร อุดรธานี และสกลนคร จังหวัดละ 1 ราย กรมสุขภาพจิตได้จัดระบบดูแลจิตใจของครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้ รพ.จิตเวชที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้ง รพ.ในพื้นที่ให้การดูแลร่วมกัน ไปจนกว่าจะหมดความเสี่ยงและกลับคืนสู่สภาวะปกติ
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า มาตรการดูแลในกลุ่มที่ 2 ได้แก่ผู้อยู่ในเหตุการณ์และเห็นเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่นผู้ที่ทำงานในห้างเทอร์มินอล 21 นักเรียนที่ไปจัดกิจกรรมในห้าง กลุ่มนี้จะเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจและการตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดผลกระทบเพื่อให้การเยียวยาต่อไป และกลุ่มที่ 3 คือประชาชนที่ถูกช่วยออกมาจากห้างในคืนที่เกิดเหตุ ซึ่งได้จัดจุดให้บริการ 2 แห่งคือในรพ.มหาราชฯ และที่ รพ.จิตเวชโคราช หรือสามารถขอรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด24 ชั่วโมง หรือปรึกษาที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ หมายเลข 0 4423-3999 ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน โดยมีผู้มาขอคำปรึกษาด้วยอาการตกใจง่าย หวาดผวา นอนไม่หลับ ที่ รพ.มหาราชฯ และ รพ.จิตเวชฯ รวม 8 คน
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ ได้จัดทีมเอ็มแคท จำนวน 8 ทีม ออกปฏิบัติงานเยียวยาที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21, รพ.ป.แพทย์, รพ.ค่ายสุรนารี, รพ.เซนต์แมรี่ , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และทีมลงชุมชนต่างๆ ต่อเนื่อง
สำหรับการปฏิบัติงานของทีมเอ็มแคทในช่วงวันที่ 8-10 ก.พ. 2563 จำนวน 15 ทีม ปฏิบัติการในพื้นที่ 12 จุด ทั้งในสถานที่ที่เกิดเหตุและใกล้เคียงได้แก่ ที่ รพ.มหาราช จ.นครราชสีมา ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 ชุมชนท่าตะโก, ชุมชนโพธิ์พันธ์, ชุมชนอรุณสามัคคีโชคดี, ชุมชนโนนฝรั่ง, วัดดอนขวาง, วัดป่าศรัทธารวม, วัดคลองไผ่, ชุมชนหนองปรุ, บ้านพักของผู้ก่อเหตุในโคราช และที่บ้านที่ จ.ชัยภูมิด้วย ซึ่งจะมีการประเมินผลการดำเนินงานทุกวัน