จิตเวชโคราช แนะประชาชนใช้ “8 วิธี” คลายเครียด คลายทุกข์ใจ !!!! จากเหตุกราดยิงที่โคราช

ข่าวทั่วไป Wednesday February 12, 2020 15:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ รพ.จิตเวชนครราชสีมา แนะประชาชนใช้ 8 วิธีลดเครียดหลังเหตุกราดยิงที่โคราช เพื่อช่วยให้กายใจปรับตัวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาทิ ลดหรือหลีกเลี่ยงติดตามดูข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ใช้ชีวิตตามปกติที่เคยเป็นพูดคุยกับคนอื่น จะช่วยระบายทุกข์ในใจออกมา การหายใจคลายเครียด อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและเป็นปกติใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากปฏิบัติแล้วยังไม่สบายใจ ขอให้เข้ารับบริการที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ หรือโทรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่รพ.จิตเวชฯ หมายเลข 0-4423-3999 หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า เหตุการณ์กราดยิงในเมืองโคราชเมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เป็นสถานการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนเป็นอันมาก ขณะนี้ทีมเอ็มแคท (MCATT) หรือทีมเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤติได้เร่งดำเนินการดูแล ปฏิบัติงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อลดความรุนแรงทางจิตใจจากผลกระทบครั้งนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ปัญหาที่พบมากในช่วงนี้คือความเครียด ซึ่งเป็นสภาวะทางอารมณ์ของผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์ที่เกิดอย่างไม่คาดฝันหรือไม่ทัน ตั้งตัว จะมีอาการปรากฏได้หลายแบบแตกต่างกัน เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ หายใจไม่อิ่ม ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเมื่อย ใจสั่น วิตกกังวล กลัวโดยไม่มีเหตุผล คิดมาก หงุดหงิดง่าย ความคิดวนเวียน โมโหง่าย ไม่อยากพูดจากับใคร เป็นต้น นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า ความเครียดที่กล่าวมาประชาชนสามารถจัดการ ดูแลแก้ไข คลี่คลายบรรเทาในเบื้องต้นด้วยตนเอง มีคำแนะ 8 วิธี ดังนี้ 1.ให้ดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ 2.ร่วมมือกันไม่แชร์ ไม่โพสต์ภาพเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสื่อโซเชียล เนื่องจากภาพในอดีต จะตอกย้ำให้หวนระลึกถึงเหตุการณ์ กระทบต่อจิตใจซ้ำๆ และยังกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดความหดหู่ หรือน่าสะพรึงกลัวขึ้นมาอีก 3. ขอให้ลดหรือหลีกเลี่ยงการติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะการรับประทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน เมื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรง จะส่งผลให้สุขภาพจิตดีไปด้วย 6. อย่าเก็บความไม่สบายใจไว้คนเดียว ขอให้พูดคุยปรับทุกข์กับคนใกล้ชิด จะช่วยระบายทุกข์ออกจากใจ และพูดให้กำลังใจกัน จะทำให้จิตใจดีขึ้น 7. ลงมือทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การออกกำลังกายตามความถนัด อย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา ทำให้สมองโล่ง สดชื่น นอนหลับได้ดีขึ้น หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ จะทำให้จิตใจมีสมาธิ และมีความสุขใจขึ้น 8. การฝึกการหายใจเพื่อคลายเครียด ซึ่งทำได้ง่ายทุกสถานที่ และทุกครั้งที่มีความเครียด ไม่สบายใจ โดยนั่งในท่าสบาย หลับตาลง เอามือประสานกันวางที่บริเวณท้อง จากนั้นให้ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าโดยให้นับเลขในใจ 1-4 เป็นจังหวะช้าๆ เพื่อให้มือรู้สึกว่าหน้าท้องพองขึ้น จากนั้นให้กลั้นลมหายใจไว้ชั่วครู่ โดยนับเลข 1-4 เป็นจังหวะช้าๆ เช่นเดียวกับการหายใจเข้า จากนั้นจึงค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออก โดยให้นับเลขในใจ 1-8 จนลมออกหมด จะรู้สึกว่าหน้าท้องแฟบลง แล้วทำตามขั้นตอนเดิมซ้ำอีก 4-5 ครั้ง โดยให้ช่วงการหายใจออกนานกว่าช่วงหายใจเข้า ซึ่งจะทำให้ก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงที่สมอง จะทำให้สมองโล่ง แจ่มใสขึ้น นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวอีกว่า การปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น จะช่วยให้ความเครียดบรรเทาลง การปรับตัวจะค่อยๆ ดีขึ้นและเป็นปกติใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากปฏิบัติแล้วยังรู้สึกไม่สบายใจ ความคิดยังวนเวียน สับสน สามารถขอรับบริการปรึกษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือเข้าปรึกษากับทีมเอ็มแคทที่ออกบริการใกล้บ้าน หรือที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ และอาจขอรับบริการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-4423-3999 ตลอด 24 ชั่วโมง และทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ