กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. เปิดเผยตามที่คอลัมนิสต์นำเสนอบทความ ระบุตั้งแต่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ส่งผลให้ถนนรามคำแหง บริเวณแยกลำสาลี รวมถึงบริเวณปากซอยรามคำแหง 93 และ 95 ถูกปิดเพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่งผลกระทบต่อกิจการ ร้านค้า รวมถึงประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งผลกระทบจากฝุ่นละอองและแรงสั่นสะเทือนจากการก่อสร้างว่า ที่ผ่านมา สนย. มีแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าและมาตรการเข้มงวดกวดขันผู้รับเหมาก่อสร้างไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตเข้าพื้นที่อย่างเคร่งครัด ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุในรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดจากกิจกรรมก่อสร้าง เช่น การตรวจวัดคุณภาพอากาศและเสียงทุกเดือนในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ก่อสร้าง สถานีรถไฟฟ้า การคลุมผ้าใบกองดินและรถบรรทุกดิน ขณะเดียวกันได้จัดประชุมตรวจติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการฯ ทุก 6 เดือน ร่วมกับคณะกรรมการกำกับการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงการดำเนินการก่อสร้าง
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวต่อไปว่าในส่วนผลกระทบต่ออาคารข้างเคียง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์และคำนวณผลกระทบและค่าการทรุดตัวของอาคารที่อาจเกิดขึ้น ก่อนเริ่มงานก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการเคลื่อนตัวของดินและอาคารข้างเคียง เพื่อตรวจวัดและติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นในระหว่างก่อสร้าง ส่วนกรณีบริเวณปากซอยรามคำแหง 93 และ 95 ต้องใช้พื้นที่สาธารณะบางส่วนในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จึงจำเป็นต้องเบี่ยงช่องจราจร โดยมีการจัดทำทางเข้าออกซอยให้ประชาชนสามารถเข้าออกได้ตามปกติ
นายสุนิติ บุณยมหาศาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางกะปิ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตบางกะปิ กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตบางกะปิ ได้ประสานขอความร่วมมือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าฯ บริเวณซอยรามคำแหง 93 แยกลำสาลี ให้ดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงคมนาคมกำหนด เช่น ติดตั้งแผงป้องกันฝุ่นละออง
ทำความสะอาดถนนและล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ปิดคลุมกระบะรถบรรทุกและกองวัสดุก่อสร้าง ฉีดพ่นละอองน้ำในอาคารบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง จัดกิจกรรม Big Cleaning Day ลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง นอกจากนั้น สำนักงานเขตบางกะปิ ยังได้จัดการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่เขต ในวันพฤหัสบดีของทุกเดือน
เดือนละ 2 ครั้ง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ ที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และบริษัท ซิโน - ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เป็นต้น