กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งลุ่มเจ้าพระยาภาคกลาง ณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ว่า เนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนที่มีจำกัด จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ โดยให้ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว พร้อมให้งดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องในเดือนตุลาคม 2562 และข้าวนาปรัง ปี 2562/63 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 ลดการเพาะเลี้ยงในบ่อปลา บ่อกุ้ง เขตโครงการชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในแม่น้ำปิงแม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีนและในระบบชลประทาน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 และขอความร่วมมือไม่ให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก
"กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการบริหารจัดการน้ำโดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด กระทรวงเกษตรฯที่เกี่ยวข้องคือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนมีน้ำสำหรับทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งได้เตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี2562/63 เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานและบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ จำนวน 4,316 หน่วย สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เฝ้าระวังและ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่" ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
จังหวัดลพบุรี มีพื้นที่ชลประทานทั้งสิ้น 0.612 ล้านไร่ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สามารถเก็บกักน้ำได้ 960 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การ 957 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 186 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 19% มีปริมาณน้ำใช้การ 183 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 19% และมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 5 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำรวม67.74 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 27.37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40% รวมปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักได้ 1,027.74 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 213.37 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 20.76%
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรนั้น ได้จัดทำแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2563 ประกอบด้วย 4 แผนหลัก คือ 1.แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า(ลดความหนาแน่นของ หมอกควันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รวมทั้งการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ 2.แผนการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ (บรรเทาและลดความเสียหายจากการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่การเกษตร) 3.แผนการป้องกัน และแก้ไขภัยแล้ง (สร้างความชุ่มชิ้นให้กับพื้นที่ป่าไม้และเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรม และ4.แผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ (เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆทั่วประเทศเพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง)โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค