กทปส. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์ ตั้งศูนย์พัฒนา 5G หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รองรับการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

ข่าวเทคโนโลยี Monday February 17, 2020 14:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--เจพี วัน คอนซัลแทนท์ ปัจจุบันสมาร์ทโฟนและสมาร์ดีไวซ์นับเป็นปัจจัยที่ห้าที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารและการทำงานมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำไปให้บริการ 5G ย่านความถี่ 700, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอปอเรเตอร์) 5 รายเข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับเบิลยูเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งจากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อให้สอดรับในการเดินหน้าพัฒนาระบบ 5G กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ได้มอบทุนในการดำเนินงาน "โครงการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เพื่อใช้ในการทดสอบการให้บริการโทรคมนาคมไร้สายในระบบ 5G แก่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการทดสอบเทคโนโลยี จุฬาฯ ชูบทบาทศูนย์ฯ สร้างแพลตฟอร์มทอดสอบ 5G ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.วาทิต เบญจพลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการทดสอบการให้บริการโทรคมนาคมไร้สายในระบบ 5G ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า "โครงการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการให้บริการโทรคมนาคม 5G ศูนย์ทดสอบฯ จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มเปิดที่ดำเนินงานด้านการทดสอบ การทดลองวิจัยเทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การทดลองใช้งานจริง และในขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาบุคลากรคู่ขนานกันไปสำหรับรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น หลังจากการวิจัยพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของเทคโนโลยีแล้ว ก็จะพัฒนาบริการในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดจากการดำเนินการของศูนย์ฯ ให้เป็นบริการนำร่อง และนำเสนอบริการดังกล่าวต่อสาธารณะชนต่อไป ขณะนี้ได้จัดตั้งศูนย์ 5G AI/IoT Innovation Center เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเปิดดำเนินการที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ชั้น M เรามีห้องแล็บ 5 ห้อง มีบุคลากรและนิสิตของจุฬาฯ สลับสับเปลี่ยนกันเข้าปฏิบัติการด้านการทดสอบและวิจัยประมาณ 50 – 60 คน มีพื้นที่สำหรับให้หน่วยงานภายนอกทั้ง Operator และ Vendor ที่สนใจเข้ามาทำการศึกษาวิจัย มาใช้ร่วมกับเราได้เพื่อเรียนรู้ร่วมกันเป็นการสร้างความแข็งแกร่งด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ร่วมกัน และนอกเหนือจากศูนย์ฯ 5G แล้ว เรายังมีการพัฒนางานวิจัยในห้องแล็บต่าง ๆ ของภาควิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะเป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงในการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี 5G ในอนาคต สำหรับศูนย์ฯ 5G AI/IoT Innovation Center ที่ได้จัดตั้งขึ้นนี้เราจะทำให้เป็นพื้นที่สาธิตการใช้งานเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์(AI) และอินเทอร์เน็ตทุกสิ่ง (Internet of Thing :IoT) เพื่อการศึกษาดูงานให้แก่หน่วยงานและผู้สนใจที่เกี่ยวข้องจากทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางวิชาการเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ให้แก่นิสิตนักศึกษา และวิศวกรเพื่อเป็นฐานในการสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเราเปิดกว้างและยินดีต้อนรับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษา ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยและพัฒนาความรู้ใหม่ ๆ ร่วมกัน หน่วยงานที่เข้ามาร่วมกับเรา ขณะนี้มีโอปอเรเตอร์ ได้แก่ AIS, True, Dtac, TOT/CAT ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อย่าง Intel, Nokia, Ericsson, Huawei หรือบริษัท โตโยต้า ก็เข้ามาร่วมกับเราในการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น เราคาดหวังว่าเมื่อมีความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาอื่น ๆ และองค์กรภาคเอกชน จะทำให้เราสามารถขับเคลื่อนศูนย์ฯ แห่งนี้ให้มีความยั่งยืนและเป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้ด้านโทรคมนาคมที่มีมาตรฐานให้กับสังคมไทยต่อไป อย่างไรก็ตามในการจัดตั้งศูนย์ฯ 5G มีวัตถุประสงค์หลัก ๆ ในการสร้างแพลตฟอร์มเปิดสำหรับการทดสอบ ทดลอง วิจัยเทคโนโลยี 5G เพื่อรองรับการให้บริการโทรคมนาคมยุคใหม่ และเพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรสำหรับรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคมในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นใช้เป็นพื้นที่สาธิตการใช้งานเทคโนโลยี 5G AI และ IoT สำหรับการศึกษาดูงานรวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับชาติและนานาชาติ อีกทั้งยังมุ่งหวังให้ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาและจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์โครงการข่าย และพื้นที่สำหรับพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี AI และ IoT ตลอดจนเทคโนโลยีที่สำคัญอื่น ๆ อีกด้วย "เราไม่ควรมองเฉพาะแค่การสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม 5G เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การสร้างและพัฒนาบุคลากรซึ่งในโครงการฯ โดยนิสิตจะแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้นักวิจัยในประเทศไทยมีความร่วมมือและบทบาทในระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการวิจัยกับต่างประเทศมากขึ้น อันจะเป็นการยกระดับในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยให้ก้าวสู่การวิจัยในมิติใหม่และทันสมัย ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และความก้าวล้ำอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในระยะยาว รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนประเทศชาติให้มีศักยภาพและความเข้าใจในการสร้างบทบาทการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 5G ได้ตรงตามความต้องการ ทันยุคสมัย ซึ่งจะนำไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ๆ ให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ ของประเทศไทยให้พัฒนาอย่างก้าวไกล" ศาสตราจารย์ ดร.วาทิต เบญจพลกุล กล่าว การพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าว นอกเหนือจากการพัฒนาบุคคล และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี อุปกรณ์ และเครื่องมือที่จำเป็นต่าง ๆ ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์ 5G AI/IoT Innovation Center เพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้สู่สังคมทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 5G, AI และ IoT โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ซึ่งปัจจุบันมีความร่วมมือกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติและมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการวัดสัญญาณ ความพร้อมของโครงข่าย และคุณภาพของการให้บริการ 5G นอกจากนี้ยังมีโครงการ use case มากมายในด้านความสมาร์ตต่าง ๆ เช่น Smart Energy, Smart Hospital, Smart Mobility, Smart Robotic เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาวิจัยที่ได้ในโครงการเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้สามารถจะต่อยอดและพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศไทยในอนาคตได้ โอปอเรเตอร์ร่วมสนุนเทคโนโลยี 5G ขับเคลื่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมในไทย โครงการฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานและบริษัท Operator ที่ให้บริการโทรคมนาคมระดับชั้นนำของประเทศไทยจำนวนมาก ได้แก่ AIS, True, Dtac และ TOT/CAT (ซึ่งกำลังควบรวมเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT) ซึ่งปัจจุบัน Operator กลุ่มดังกล่าวได้เข้ายื่นเอกสารประมูลคลื่นความถี่ 5G ประกอบด้วยคลื่นความถี่ทั้งหมด 4 ย่าน คือ ย่านความถี่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ ที่ผ่านมาในโครงการฯ นี้ Operator ได้มีการติดตั้งและทดลองทดสอบอุปกรณ์สื่อสารระบบ 5G ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่กำกับดูแลเฉพาะ (Regulatory Sandbox) จาก กสทช. จึงทำให้พื้นที่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถจะพัฒนาแอปพลิเคชันและทดสอบการให้บริการใหม่ ๆ สำหรับเทคโนโลยี 5G รวมถึงเทคโนโลยีสื่อสารบนคลื่นความถี่ในย่านต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ได้แก่ 700 MHz, 900 MHz, 2500 MHz, 3300 MHz (C-Band), 5 GHz, 26 GHz, 28 GHz และ Millimeter Wave (57 GHz และ 81 GHz) ได้อีกด้วย ปัจจุบันผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมมีแผนดำเนินการที่จะติดตั้งสถานีฐาน (Base Station) จำนวน 15 สถานีฐาน เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานระบบ 5G ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือของกลุ่ม Vertical Industries นี้ถือว่าเป็นกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่เก่งกาจเป็นอย่างยิ่งของ กสทช. และ กทปส. ที่มี Vertical Industries เข้ามาร่วมในโครงการฯ นี้ เนื่องจากการพัฒนาการใช้ระบบ 5G โดยส่วนใหญ่ทั่วไปจะเริ่มต้นจากพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ โดยอยู่ในกลุ่มที่จำเป็นต้องพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเช่นภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ดังนั้นการเลือกพื้นที่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและให้มี Vertical Industries จึงเป็นกลุ่มขับเคลื่อนที่สำคัญซึ่งมีการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ได้เป็นอย่างดี และส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยี 5G ไปยังภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต ปัจจุบันในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ๆ มีความสนใจในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น 5G, IoT, AI และ Big Data มาใช้ปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพื่อการให้บริการลูกค้าในรูปแบบใหม่ๆและตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการได้สะดวกมากขึ้น ดังนั้นแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่นำมาให้บริการแก่ลูกค้า ในปัจจุบันเชื่อมั่นว่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจโทรคมนาคมและไอทีอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้การจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยสามารถใช้เทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเทคโนโลยี 5G ให้เกิดประโยชน์ในเชิงนวัตกรรมอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่เพียงเฉพาะแค่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น เนื่องจากเทคโนโลยี 5G เป็นการเชื่อมต่อสื่อสารแบบไร้สายระหว่างอุปกรณ์ทุกสรรพสิ่งที่เราใช้งานในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลม ประตูบ้าน รถยนต์ โดรน รวมไปถึงอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ระบบฐานข้อมูล และระบบควบคุมอัตโนมัติ ซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยี 4จี ในปัจจุบันที่เน้นใช้งานเฉพาะเพียงแค่โทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น นอกจากนี้การใช้งานเทคโนโลยี 5G ยังแบ่งฟีเจอร์หลัก ๆ ออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ eMBB (enhanced Mobile BroadBand) ซึ่งเน้นการใช้งานสำหรับระบบที่ต้องการระบบสื่อสารไร้สายที่มีอัตราการรับส่งข้อมูลที่ความเร็วสูงยิ่งยวด mMTC (massive Machine Type Communications) เน้นการใช้งานสำหรับระบบที่ต้องการระบบสื่อสารไร้สายที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากได้พร้อม ๆ กันและประหยัดพลังงาน และสุดท้ายคือ URLLC (Ultra-Reliable and Low Latency Communications) เน้นการใช้งานสำหรับระบบที่ต้องการระบบสื่อสารไร้สายที่มีเสถียรภาพสูงและตอบสนองได้อย่างฉับไว ดังนั้นในภาคอุตสาหกรรมจึงมีความต้องการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในเชิงนวัตกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม ทั้งนี้คาดหวังว่าประเทศไทยจะมีศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสามารถจะเข้ามาร่วมวิจัยกับสถาบันศึกษาที่มีความเป็นกลาง ซึ่งโครงการฯ นี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่ได้เปิดกว้างให้สถาบันศึกษาและสถาบันวิจัยอื่นๆ สามารถเข้ามาร่วมศึกษาวิจัยได้ เพื่อร่วมกันศึกษาทดลองทดสอบการใช้งานระบบ 5G ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งยังมีศูนย์นวัตกรรม 5G, AI และ IoT ที่เปิดให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้ามาศึกษาดูงานสาธิตการใช้งานเทคโนโลยี และพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี 5G, AI และ IoT ตลอดจนเทคโนโลยีที่สำคัญอื่น ๆ ด้วย ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างมีหลักวิธี รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้า ทางด้าน นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวเสริมว่า จากการที่ทาง กสทช. เปิดประมูลคลื่นความถี่ 5G ให้โอปอเรเตอร์ เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยทางกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ได้มอบทุน "โครงการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ในการดำเนินงานโครงการทดสอบการให้บริการโทรคมนาคมไร้สายในระบบ 5G แก่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการทดสอบเทคโนโลยี ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาแอปพลิเคชั่น รวมถึงการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ