กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 35 ด้วยการเดินหน้าขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ประสานองค์ความรู้ บริการวิชาการเข้าสู่ชุมชน ภาครัฐและเอกชน ผ่านการสร้างคน พร้อมสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ในบริการแบบมืออาชีพ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัย รองรับการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ
ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในการดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 35 ของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chula Unisearch ในฐานะหน่วยงานวิสาหกิจและเป็นผู้แทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการดำเนินการร่วมกับองค์กรภายนอกนั้น จะมุ่งเน้นการขยายงานบริการวิชาการและงานวิจัยไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
พร้อมทั้งสร้างคนให้มีคุณภาพ พร้อมรองรับงานหลากหลายรูปแบบจากทุกภาคส่วน รวมถึงงานจากต่างประเทศ "ปัญหาของสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้นตามโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้โจทย์ของการแก้ไขปัญหาซับซ้อนขึ้นตามมา และจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ทางบริการวิชาการหลากหลายศาสตร์มาใช้ในการตอบโจทย์ของสังคม ประกอบกับการที่ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน หันไปใช้บริการวิชาการและงานวิจัยจากต่างประเทศมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่งานบริการทางวิชาการและการศึกษาวิจัยภายในประเทศสามารถรองรับได้มีประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ตั้งเป้าหมายในการขยายงานบริการวิชาการและงานวิจัยให้เข้าถึงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการให้บริการวิชาการในงานที่ภาคเอกชนยังไม่สามารถศึกษาวิจัยได้เองและ ได้ว่าจ้างให้ต่างชาติดำเนินการให้ โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการสนับสนุนและริเริ่ม ให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิจัยจากจุฬาฯ ในการพัฒนาและนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผนวกเข้ากับองค์ความรู้ทางวิชาการของจุฬาฯ มาใช้ในการบริการวิชาการ เพื่อตอบโจทย์และทำประโยชน์ให้แก่สังคมในยุคดิจิทัล อันจะเป็นการพัฒนาประเทศได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน" ดร. ศุภิชัย กล่าว
"ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ได้เน้นการสร้างพันธมิตรเพื่อขยายความร่วมมือทางด้านวิชาการ รวมถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่กับทุกภาคส่วน โดยการเข้าไปหารือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ทราบถึงอุปสงค์หรือความต้องการในการวิจัยพัฒนาและสามารถนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาให้บริการวิชาการได้อย่างตรงจุด อีกทั้ง ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ งานวิจัย บุคลากร ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม และมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านต่าง ๆ กับภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ" ดร. ศุภิชัย กล่าวและเสริมว่า "ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ เน้นการสร้างความคุ้นเคย โดยเริ่มจากตัวบุคคลขยายไปสู่องค์กร ให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจในการให้บริการวิชาการแบบมืออาชีพที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในการบริการวิชาการและความร่วมมือในที่สุด โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ได้มีการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการวิชาการ รวมถึงให้การสนับสนุนคณาจารย์ นิสิต เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้เข้ามามีบทบาทในการบริการวิชาการอันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมรองรับการเข้าสู่ตลาดโลกต่อไป"
ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจงานบริการวิชาการและงานวิจัย ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับจุฬาฯ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ โทร 0-2218-2880