กระทรวงเกษตรฯ โชว์ผลการขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร “พะเยาโมเดล” นำร่องสินค้าข้าวหอมมะลิ ตามนโยบายตลาดนำการผลิต

ข่าวทั่วไป Tuesday February 18, 2020 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันนี้ (18 ก.พ. 63) เวลา 08.30 น. ณ หน้าตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร "พะเยาโมเดล" และผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ของโครงการ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วมงาน โดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวรายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร "พะเยาโมเดล" ณ หน้าตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการความร่วมมือร่วมกับจังหวัดพะเยา ผู้ประกอบการภาคเอกชน เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพะเยา เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร "พะเยาโมเดล" โดยนำร่องในสินค้าข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2562/2563 เป็นลำดับแรก มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรกรในจังหวัดพะเยา รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สินค้าข้าวหอมมะลิ และเพื่อพัฒนาให้ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย "การตลาดนำการผลิต" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าข้าวหอมมะลิจังหวัดพะเยา ปีการผลิต 2562/63 มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 638,079 ไร่ ครอบคลุม 9 อำเภอของจังหวัดพะเยา โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 419,164 ไร่ ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ อออกสู่ตลาด จำนวน 151,900 ตัน ซึ่งจำนวนดังกล่าวมีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาด โดย 1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่รับซื้อในโครงการ "พะเยาโมเดล" ภายใต้ตราสินค้า "ฮักพะเยา" โดยความร่วมมือระหว่าง บจก. ข้าว ซี.พี. กับสหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ 8 แห่ง ร่วมกันเปิดจุดรับซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิจากเกษตรกร จำนวน 15 จุด รับซื้อในราคา 18,000 บาท/ตัน ที่ความชื้น 15 % ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดพะเยา จำนวน 72,594.38 ตัน มูลค่ารวม 949,162,133.44 บาท และเตรียมสานต่อโครงการในปี 2563 โดยขยายผลการรวบรวมและรับซื้อผลผลิตครอบคลุมทั้งจังหวัด 2) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่รับซื้อและจำหน่ายผ่านสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 24,918.19 ตัน มูลค่ารวม 295,463,148.00 บาท "สำหรับในปี 2563 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดพะเยาร่วมกันจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนในปีการผลิต 2563/64 โดย 1) กำหนดเป้าหมายบริหารจัดการผลิตและการตลาดข้าวหอมมะลิพะเยา ทั้งหมด (100%) ราคารับซื้อ 18,000 บาท/ตัน (ณ ความชื้น 15%) 2) ส่งเสริมการตลาดสินค้าอัตลักษณ์และขยายตลาดสินค้าข้าวหอมมะลิพะเยาภายใต้แบรนด์ "ฮักพะเยา" 3) เพิ่มบริการรถเกี่ยวข้าวและโรงสีข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร 4) สนับสนุนการไถกลบ ตอซังข้าว เพื่องดการเผาที่เป็นสาเหตุของ PM 2.5 และการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว และ 5) วางแผน การเพาะปลูกให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและจัดระเบียบการเก็บเกี่ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ จากเครื่องจักรกลและบริหารให้ผลผลิตมีคุณภาพออกสู่ตลาดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งหลังจากรวบรวมและจัดทำข้อมูลดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะกำหนดจัดการประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร "พะเยาโมเดล" และวางแผนการดำเนินงานในปีการผลิต 2563/64 โดยมี พันตำรวจเอก รวมนคร ทับทิมธงไชย หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) เป็นประธาน ทั้งนี้ รูปแบบการบริหารจัดการผลิตและการตลาด ข้าวหอมมะลิพะเยา "พะเยาโมเดล" จะเป็นตัวอย่างที่จะขยายผลไปสู่การบริหารจัดการสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งจะเป็นรูปแบบ ที่ไม่พึ่งพางบประมาณ ภาครัฐจำนวนมาก เนื่องจากใช้หลักตลาดนำการผลิต สร้างคุณค่าสินค้าเพิ่มจากอัตตลักษณ์พื้นถิ่นที่ซึ่ง ผู้บริโภคมีความพึงพอใจ" ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ