กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีประชาชนตั้งข้อสังเกตการแยกขยะจากครัวเรือนไม่มีประโยชน์ หน่วยงานภาครัฐควรกำหนดวิธีการคัดแยกขยะและปรับปรุงตัวรถเก็บขยะให้ มีป้ายการคัดแยกขยะอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกครัวเรือนปฏิบัติได้อย่างถูกต้องว่า สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกและใช้ประโยชน์มูลฝอยที่แหล่งกำเนิด 4 ประเภท ได้แก่ 1) มูลฝอยอินทรีย์ นำไปใช้เลี้ยงสัตว์ หมักทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ 2) มูลฝอยรีไซเคิล แยกขายเพื่อเป็นรายได้ 3) มูลฝอยทั่วไป แยกทิ้งให้รถเก็บขนมูลฝอยของ กทม. นำไปกำจัดตามหลักสุขาภิบาล และ 4) มูลฝอยอันตราย โดยกำหนดนโยบายจัดเก็บมูลฝอยอันตรายจากชุมชนทุกวันอาทิตย์หรือตามวันเวลา และสถานที่ที่สำนักงานเขตกำหนด ขณะเดียวกันได้พิจารณาปรับปรุงรถเก็บขนมูลฝอยให้มีป้ายประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ อย่างชัดเจน โดยปัจจุบันรถเก็บขนมูลฝอย แบบอัดขนาด 5 ตัน และแบบอัดขนาด 2 ตัน ได้ออกแบบให้มีช่องสำหรับรองรับขยะรีไซเคิลและขยะอันตราย
มีตะแกรงเอนกประสงค์ 2 ช่อง ติดตั้งอยู่ด้านหลังเก๋ง หน้าตู้บรรทุกขยะ และพ่นสัญลักษณ์สีเหลืองสำหรับขยะรีไซเคิล สีส้มสำหรับขยะอันตราย เพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น ได้จัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น เสื้อกั๊กสะท้อนแสง ผ้าปิดจมูก ถุงมือยาง รองเท้าบูท ให้แก่พนักงาน รวมทั้งดูแลสุขอนามัยและความปลอดภัยพนักงานเก็บขนมูลฝอย โดยให้ความรู้ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัย การป้องกันโรค การดูแลสุขภาพและการป้องกันอันตรายจากการปฏิบัติงาน จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงานของสำนักงานเขตอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตลอดจนจัดสวัสดิการ เช่น ค่าครองชีพ ค่ารักษาพยาบาล และค่าตอบแทนตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่เก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยและเอกชนที่รับชำระค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยแทนกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2546 อีกด้วย