กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ดีอีเอส ใช้เวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง "รู้เท่าทัน-วางกฎเหล็ก Mass Shooting - สังหารหมู่ซ้ำ บนสื่อทีวี-ออนไลน์" ผนึกกำลัง กสทช. สื่อ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หาทางออกร่วมกันในการดูแลสื่อโซเชียล และแก้ไขกฎหมายให้ตามทันเทคโนโลยี
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การจัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง "รู้เท่าทัน-วางกฎเหล็ก Mass Shooting - สังหารหมู่ซ้ำ บนสื่อทีวี-ออนไลน์" ร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2563) มีเป้าหมายหลัก เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน ในการดูแลและจัดระเบียบสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย และนำไปสู่การสร้างแนวปฏิบัติในอนาคตในการรับมือและวางกฎระเบียบของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยงานนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันด้วย ได้แก่ นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์, นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT), นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับข้อสรุปจากการระดมความคิดเห็นในเวทีนี้ จะนำไปใช้ประกอบการศึกษาแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย โดยไม่จำกัดเพียง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 เนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติหลายฉบับ ยังไม่ครอบคลุมแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ
"จุดมุ่งหมายในการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อรับมือและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เราไม่ได้มีความตั้งใจลิดรอนสิทธิใคร ภาครัฐไม่ได้ต้องการละเมิดสิทธิประชาชนและสื่อ แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไข โดยจะนำความคิดเห็นจากส่วนรวมมาใช้พิจารณาประกอบการแก้ไขกฎหมาย" นายพุทธิพงษ์กล่าว
รมว.ดีอีเอส ยังได้เสนอความคิดเห็นว่า ในกรณีสถานการณ์วิกฤติอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมา ควรมีการแต่งตั้งให้มีผู้บัญชากการ และผู้บัญชากการด้านการสื่อสาร เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนสนใจอยากรู้ อยากติดตามข่าวสาร แต่เลือกไม่ถูกเพราะมีสื่อหลากหลาย นอกจากนี้ รัฐควรประกาศช่องทางชัดเจน เช่น อสมท. หรือช่อง 11 เพื่อเป็นช่องหลักในการกระจายข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้ว โดยช่องอื่นๆ มาเอาข้อมูลจากที่นี่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และทุกคนต้องตระหนักว่า การที่เอาข้อมูลจากคนอื่นมาเผยแพร่ต่อ ต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งแนวทางนี้สามารถใช้ได้กับทุกเหตุการณ์วิกฤติในอนาคต
"วันนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ต้องแก้ไข เพราะกรณีที่มีการบิดเบือนข้อมูลออนไลน์ สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้ แต่ที่ผ่านมาหลายคนอาจยังไม่ทราบ"
นายพุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ทางกสทช. เตรียมออกกฎเกณฑ์และบทลงโทษในสื่อหลักที่ดูแลอยู่ ส่วนกระทรวงดิจิทัลฯ จะหารือการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์และเทคโนโลยี ที่ผ่านการนำเสนอข่าวออนไลน์ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากกระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงจึงไม่มีอำนาจในการปิดสื่อนั้นได้ อีกทั้งจะมีการขยายผลเรื่องกฎหมายในด้านนี้ให้ครอบคลุมถึงสื่ออนไลน์ที่กระทบกับเยาวชนด้วย ได้แก่ 1.ดูแลการขายของที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนผ่านช่องทางออนไลน์ และ 2.ให้ความรู้กับเยาวชน และสอนให้รู้จักเรื่องการบริหารจัดการเวลาการเสพสื่ออนไลน์
พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การเสนอข่าวในภาวะวิกฤติ มีทั้งสื่อทีวีและออนไลน์ ดังนั้น กสทช. และดีอีเอส จึงมีส่วนสัมพันธ์กัน เพราะในแง่ กสทช. ได้รับอำนาจในการให้คลื่นความถี่ ใบอนุญาต และกำกับควบคุมดูแลส่งเสริม ทำให้กำกับดูแลสื่อบนจอทีวีได้ครบ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมา เกิดบนสื่อออนไลน์ ปรากฎการณ์การส่งต่อข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งมีความซับซ้อนมาก และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปัจจุบันก็ไม่เพียงพอต่อการกำกับดูแล
"องค์กรที่จะดูสื่อใหม่ สื่อออนไลน์ ต้องเข้ามาช่วยกัน เพื่อเสริมจากมิติของ กสทช. ที่ดูแลได้ครบในขอบเขตอำนาจ โดยร่วมหาว่าในกรณีที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังทำไม่ได้ จะมีแนวทางใด"
นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเสนอข้อมูลเหตุการณ์ที่โคราชในโซเชียลมีเดีย ที่รวบรวมจากระบบของ Wisesight ว่า กระแสสังคมในประเด็น #กราดยิงโคราช ช่วง 2 วันดังกล่าว มีจำนวนบนโซเชียลถึง 1.2 ล้านข้อความ และมีการแชร์ 66 ล้านครั้ง ในช่วงเวลา 48 ชั่วโมง และเมื่อประมวลผลจากแฮชแท็กฮิต แม้น้อยสุดก็มีเป็นหลักหมื่นข้อความ โดยเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 5 อันดับแรก มีสื่อกระแสหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับ
ขณะที่ นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวในเวทีระดมความคิดเห็น ว่าภูมิทัศน์สื่อออนไลน์กลายเป็นหลักในปัจจุบัน เพราะอินเทอร์เน็ตเข้าถึงคนทั้งประเทศแล้ว ดังนั้นมีโจทย์ว่าภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะดูแลการบริหารจัดการสื่ออย่างไร โดยส่วนตัวเห็นด้วยว่า ควรมีการแบ่งกลุ่มเป็นสื่อกระแสหลัก และสื่อออนไลน์ เพราะปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต มีสัดส่วนถึง 60% ที่เสพสื่อกระแสหลักผ่านออนไลน์ เนื่องจากสื่อกระแสหลักยุคนี้ก็ทำสื่อออนไลน์ควบคู่ไปด้วย
อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังจาก พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และการคัดกรอง (Screen) ข้อมูลนำเสนอบนสื่อออนไลน์ได้อย่างหมาะสม และถูกต้องสำหรับผู้บริโภคสื่อ เนื่องจากกรณีที่สื่อเอาคลิปมาลง และสามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นใคร และผู้ที่อยู่ในคลิปนั้นได้รับความเสียหาย ก็สามารถฟ้องร้องทางกฎหมายได้
นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า ในบทบาทขององค์กรที่มีสมาชิกกว่า 100 ราย ทั้งสถานีโทรทัศน์ และผู้ผลิตรายการ มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาจากบทเรียนหตุการณ์ที่โคราช ดังนี้ 1.สื่อต้องมีวินัย ซึ่งองค์กรสื่อมีกฎบัตรอยู่แล้ว แต่อาจลืมไปเพราะกังวลเรื่องเรตติ้ง 2.วินัยของผู้รับสื่อ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการ educate คนในสังคม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโมเดลของ "ชัวร์ก่อนแชร์" ให้คนตระหนักว่าควรมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์หรือเชื่อ 3.มีกรอบกติกาชัดเจน และ4. รัฐเข้ามาช่วยในเรื่อง Data Resources จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข่าวสาร เพื่อให้เป็นข้อความเดียวกัน และสื่อสารออกมาผ่านทุกช่องทางสื่อทั้งสื่อหลักและออนไลน์ ป้องกันการเกิดความตื่นตระหนกของประชาชน