กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--เกียรตินาคินภัทร
- บลจ.ภัทร เพิ่มกองทุนต่างประเทศเพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นของบริษัทโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วโลก
นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ. ภัทร) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่าในระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 10 มีนาคม 2563 บลจ.ภัทรจะเปิดเสนอขายกองทุนเปิดภัทร โกลบอลอินฟราสตรัคเจอร์อิควิตี้ (Phatra Global Infrastructure Equity Fund - PHATRA GINFRAEQ) ซึ่งเป็นกองทุน Feeder Fund ที่เน้นลงทุนในกองทุนรวมหลักเพียงกองทุนเดียวคือ Lazard Global Listed Infrastructure Equity Fund โดยกองทุนนี้จะลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure Companies) และมีการคัดเลือกหลักทรัพย์ด้วยกระบวนการและปัจจัยกลั่นกรองหลายปัจจัย ซึ่งครอบคลุมปัจจัยเชิงคุณภาพ ตลอดจนการกระจายการลงทุนทั้งในมิติของพื้นที่ภูมิภาคและกลุ่มอุตสาหกรรม กองทุนนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาวและรับความเสี่ยงได้สูง
ทั้งนี้ กองทุน PHATRA GINFRAEQ จะป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเกือบทั้งหมด คือไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ลงทุน
ด้านมุมมองการลงทุนสำหรับปี 2563 นายยุทธพลกล่าวว่า ตลาดการลงทุนทั่วโลกยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทบกับธุรกิจการท่องเที่ยว การบริโภคและห่วงโซ่การผลิต ความคืบหน้าทางการค้าสหรัฐฯ และจีน ความขัดแย้งในการกำหนดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคพลัสที่กดดันราคาน้ำมันดิบให้ต่ำลง และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปี เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนดังกล่าว ธนาคารกลางทั่วโลกได้กลับมาดำเนินนโยบายผ่อนคลายมากขึ้นโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงและคงปริมาณเงินในระบบที่ระดับสูง ดังนั้น การลงทุนที่ตอบโจทย์ในภาวะที่สภาพคล่องในระบบสูง อัตราดอกเบี้ยต่ำ และตลาดโดยรวมยังค่อนข้างผันผวน ก็คือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยแต่มีความผันผวนตามปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นที่ต่ำ เช่น การกระจายการลงทุนไปในหลายสินทรัพย์ในหลายประเทศ (Asset Allocation) การลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือ REITs การลงทุนในกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคที่มีผลการดำเนินงานที่มีกระแสเงินสดค่อนข้างสม่ำเสมอ หรือการลงทุนระยะยาวในหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากวัฎจักรการเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ เช่น กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มพลังงานสะอาด เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อกลับมามองในมุมของนักลงทุนในไทย ที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศนอกจากจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ดังกล่าวแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายในประเทศ เช่น ปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี การผ่านงบประมาณภาครัฐล่าช้ากว่ากำหนด และปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการเข้าสู่สังคมสูงวัย การขาดแคลนธุรกิจที่นับเป็นเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ทำให้ทางเลือกการลงทุนในประเทศของนักลงทุนไทยกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตลดลง ซึ่งแม้ว่าการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจะยังน่าสนใจ แต่ก็มีความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่องที่มีจำนวนหลักทรัพย์ให้ลงทุนได้น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณเงินทุนที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว
บลจ.ภัทร มองว่าการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลายในต่างประเทศ ซึ่งมีสภาพคล่องสูงกว่าจะช่วยลดความเสี่ยงและให้โอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาวแก่นักลงทุนไทย กองทุนเปิดภัทร โกลบอลอินฟราสตรัคเจอร์อิควิตี้ จึงเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนไทย ได้กระจายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure Companies)
สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถขอรับหนังสือชี้ชวนและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร โทร. 02 305 9559 หรือ ธนาคารเกียรตินาคินทุกสาขา หรือ KKP Contact Center 02 165 5555 หรือ www.phatraasset.com หรือผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ได้รับการแต่งตั้ง
ข้อมูล IPO กองทุน PHATRA GINFRAEQ:
- เปิด IPO วันที่ 24 ก.พ. -10 มี.ค. 63 เวลา 8.30-15.30 น.
- มูลค่าขั้นต่ำของการซื้อ 1,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมการขาย/สับเปลี่ยนเข้า ยกเว้นช่วง IPO
คำเตือน
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้าเงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
- เนื่องจากกองทุนมีการลงทุนในต่างประเทศกองทุนอาจมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเศรษฐกิจการเมืองและสังคมรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศที่กองทุนไปลงทุนด้วย
- กองทุนเปิดภัทรโกลบอลอินฟราสตรัคเจอร์อิควิตี้จะทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเกือบทั้งหมด โดยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ กองทุนจึงอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนที่ไม่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงไว้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ นอกจากนี้ การทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวอาจมีต้นทุน ซึ่งทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
- กองทุนมีนโยบายการลงทุนเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรมจึงมีความเสี่ยง/ความผันผวนของราคาสูงกว่ากองทุนรวมทั่วไปที่มีการกระจายการลงทุนในหลายหมวดอุตสาหกรรมเริ่มแรกได้