ปศุสัตว์แจงสื่อนอกเผยข้อมูลเก่าปี 62 ย้ำใช้ไม้ทุบหัวสุกรก่อนฆ่าผิดพรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ มีโทษหนัก

ข่าวทั่วไป Wednesday February 19, 2020 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้สื่อนอกนำข้อมูลเก่ามาเผยแพร่สร้างความเสียหายกับไทยแจงการฆ่าสุกรโดยใช้ไม้ทุบหัว ผิดพรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ ต้องถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต เผยเร่งปราบปรามโรงฆ่าเถื่อนต่อเนื่อง ยกระดับมาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ของไทย แนะเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์จากผู้ผลิตมาตรฐาน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนต่างประเทศมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์เถื่อนของไทย เป็นเรื่องเก่าเมือปี 2562 ที่ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำอีก สำหรับการฆ่าสัตว์โดยใช้ไม้ทุบหัวสุกรไม่ทำให้สลบได้แบบสมบูรณ์ (Immobilization) ถือเป็นการกระทำผิดตามตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 และผิดหลักสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้เร่งปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดโดยส่งเจ้าหน้าที่บุกจับโรงฆ่าสัตว์เถื่อนอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2558 มีผลการจับกุมโรงฆ่าเถื่อนแล้วกว่า 500 ราย และยังสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตไปแล้วอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง "ภาพที่สื่อนอกนำเสนอนั้นเป็นภาพเก่าเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นการลักลอบเข้าไปทำข่าวในโรงฆ่าสัตว์เถื่อนขอให้ผู้ที่ได้รับข่าวสารนี้อย่าส่งต่อ เพราะจะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วในการเร่งปราบปรามการกระทำผิดด้านปศุสัตว์มาโดยตลอด เพื่อยกระดับมาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ของไทยสร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภคแนะนำผู้บริโภคให้เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้สังเกตตราสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK"อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว ที่สำคัญกระบวนผลิตเนื้อสัตว์ของไทย มีการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การเลี้ยงในฟาร์ม การขนส่ง จนถึงกระบวนการฆ่าและแปรรูปในโรงงานมาตรฐานโดยเฉพาะก่อนการเชือดชำแหละจะต้องมีการพักสัตว์รอเข้าฆ่าไม่น้อยกว่า 30 นาทีมีการสเปรย์น้ำเพื่อลดความเครียดก่อนจะทำให้สลบเพื่อทำให้สัตว์หมดสติไปอย่างสมบูรณ์ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ หากประชาชนพบเห็นโรงฆ่าเถื่อนหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายโปรดแจ้งเบาะแสได้ที่ application "DLD 4.0"เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการเข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ