กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
นายกรัฐมนตรีเยี่ยมคลินิกหมอใจ ประจำห้างเทอร์มินอล21 นครราชสีมา ชื่นชมให้กำลังใจทีมเยียวยาจิตใจ โดยวันนี้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขตสุขภาพที่9 สั่งการทีมเยียวยาจิตใจจากชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์เสริมทีมนครราชสีมาร่วมประจำการที่คลินิกหมอใจวันละ 42 คน ยอดผู้มีความเครียดต้องดูแลต่อเนื่อง 409 คน พร้อมย้ำเตือนผู้ที่มีโรคประจำตัวทั้งทางกายหรือใจอย่าขาดยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยซึมเศร้าอยู่เดิม ขอให้กินยาต่อเนื่องชี้จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวฟื้นใจหลังเหตุการณ์
วันนี้(19 ก.พ. 2563) ที่จังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ประจำเขตสุขภาพที่ 9 และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนที่ห้างเทอร์มินอล21 นครราชสีมา และเยี่ยมชมบริการที่คลินิกหมอใจซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้นจีและชั้นแอลจี เพื่อให้กำลังใจและชื่นชมการปฏิบัติงานของทีมเจ้าหน้าที่เยียวยาจิตใจ ซึ่งเป็นสหวิชาชีพหลายสาขาให้บริการประจำทุกวัน
นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวว่าในการดูแลประชาชนภายหลังเหตุกราดยิงที่จ.นครราชสีมา ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการ 2 ประเด็นหลัก คือการรักษาฟื้นฟูผู้บาดเจ็บเพื่อให้หายและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือใกล้เคียงกับเดิมที่สุดตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และการฟื้นฟูจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มคือกลุ่มผู้บาดเจ็บและญาติ ญาติของผู้เสียชีวิต ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด และประชาชนที่มีอาการเครียดจากการติดตามข่าวสารในวันเกิดเหตุให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ป้องกันผลกระทบทางใจระยะยาว โดยด้านการฟื้นฟูจิตใจ ขณะนี้เขตสุขภาพที่ 9 และหน่วยงานของกรมสุขภาพจิตคือโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 พร้อมทั้งเครือข่ายอื่นๆ ได้ร่วมกันจัดบริการอย่างเต็มที่ 4 รูปแบบใหญ่ ประกอบด้วย 1. ตั้งคลินิกหมอใจ ให้บริการประจำห้างเทอร์มินอล21 นครราชสีมา 2.จัดทีมเยียวยาจิตใจหรือทีมเอ็มแคท (MCATT) ออกไปให้บริการตามชุมชน/สถานที่เกิดเหตุและข้างเคียงทุกวัน 3.ให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์โดยผู้เชี่ยวชาญ คือที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯหมายเลข 0-4423-3999 และทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง และ4.บริการในสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งใน จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
"โดยเฉพาะที่ห้างเทอร์มินอล 21 นครราชสีมา ซึ่งมีประชาชนไปเที่ยวพักผ่อน ช็อปปิ้งวันละหลายพันคน และมีผู้ใช้บริการที่คลินิกหมอใจจำนวนมาก วานนี้มี 101 คน พบว่ามีความเครียดในระดับสูง 11 คน วันนี้ได้ประสานขอระดมเจ้าหน้าที่เอ็มแคทจาก ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 9 มาให้บริการสมทบกับทีมของ จ.นครราชสีมาอีกวันละ10 คน รวมมีผู้ให้บริการที่นี่วันละ 42 คน โดยให้บริการไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย"นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าว
สำหรับผลการตรวจคัดกรองประเมินระดับความเครียดจากเหตุการณ์ เพื่อจัดระบบให้การดูแลฟื้นฟูอย่างเหมาะสม ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 8 -18 กุมภาพันธ์ 2563 ตรวจไปแล้วรวม 2,676 คน ในจำนวนนี้มีความเครียดระดับสูงต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องจำนวน 409 คน โดยเป็นกลุ่มผู้บาดเจ็บ และญาติ และญาติผู้เสียชีวิต 120 คน กลุ่มผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ 212 คน ส่วนที่เหลืออีก 77 คน เป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารทางสื่อต่างๆแล้วเกิดความเครียด
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า จากการประเมินสภาพจิตใจของประชาชนที่ผ่านมา พบว่าในผู้ที่มีความเครียดอยู่ในระดับสูงมีจำนวนหนึ่งที่มีโรคประจำตัวทั้งทางกายและทางใจอยู่เดิม ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจิตใจได้ง่ายและรุนแรงกว่าคนอื่นๆ อย่าขาดยาอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะผู้ป่วยซึมเศร้า ซึ่งมีอารมณ์เศร้าซึมอยู่แล้ว จึงต้องขอความร่วมมือจากญาติให้ช่วยกันดูแลให้ผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะดีเป็นปกติแล้วก็ตามการกินยาต่อเนื่องจะช่วยปรับสารเคมีในสมองให้อยู่ในสภาวะสมดุล และควบคุมอาการให้เป็นปกติ จะเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูจิตใจหลังเหตุการณ์ให้กลับมาเป็นปกติ
สำหรับการดูแลผู้ที่มีความเครียดวิตกกังวลทุกคน ขณะนี้ได้จัดระบบการส่งต่อเพื่อให้สถานบริการในพื้นที่ดูแลติดตามร่วมกันตามแผน โดยจะประเมินซ้ำในอีก 1 สัปดาห์ สำหรับที่ห้างเทอร์มินอล21 ในช่วงวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2563 ทีมผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพ จะเริ่มดำเนินการทำกิจกรรมกลุ่มในกลุ่มของพนักงานที่มีกว่า 100 คน ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งในการฟื้นฟูความเข้มแข็งทางใจเพื่อส่งเสริมให้การปรับตัวกลับสู่สภาวะปกติได้ดีและเร็วยิ่งขึ้นนายแพทย์กิตต์กวีกล่าว