วศ.อว ร่วมลงนามความร่วมมือ “พันธมิตรระบบราง สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย”

ข่าวทั่วไป Wednesday February 19, 2020 16:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมลงนามบูรณาการความร่วมมือพันธมิตรระบบรางภาครัฐ/สถาบันการศึกษารวม 15 หน่วยงาน เพื่อสร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย ครอบคลุมด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา มาตรฐานระบบราง อุตสาหกรรมระบบราง ทดสอบและการทดลอง พัฒนาทรัพยากรบุคคล หวังช่วยเสริมประสิทธิภาพระบบขนส่งทางรางและความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบรางให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบรางของประเทศและมาตรฐานสากล ณ อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม กรุงเทพฯ สำหรับการลงนามความร่วมมือในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามของ 15 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางราง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามอย่างเป็นทางการ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า อว. ให้ความสำคัญกับนโยบายสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ประเทศ โดย อว. พร้อมนำองค์ความรู้สนับสนุนงานในอุตสาหกรรมรางไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเทคโนโลยีด้านระบบราง ต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติ ดังนั้นการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง จะเป็นการต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมรางในประเทศไทยขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ หรือใช้ local content ให้มากที่สุด ตามนโยบาย Thai First ซึ่งให้สัมฤทธิ์ผลต้องอาศัยการร่วมทำงานแบบสอดประสานโดยมีเป้าหมายร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน รวมทั้งประชาสังคมในชุมชนที่เกี่ยวข้องมีลักษณะแบบสี่ประสาน (Quadruple Helix) โดยอาศัยการประสานจุดแข็งของหน่วยงานแต่ละประเภท อาทิ องค์ความรู้ต่อยอดการวิจัยพัฒนา (research & development) และการพัฒนาทักษะกำลังคน (manpower skill) ของภาคการศึกษา ความพร้อมในการสนับสนุนทางโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพทางระบบราง (National Quality Infrastructure: NQI) และการแบ่งปันทรัพยากร (infrastructure sharing) ของหน่วยงานรัฐ พื้นฐานที่แข็งแกร่งและความพร้อมในการลงทุนและการผลิตของหน่วยเอกชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนของชุมชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการใช้บริการรถไฟ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ