กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติสนับสนุนการระดมทุนจากทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) โดยนำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ เพิ่มทางเลือกการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ก.ล.ต. ขานรับแนวทาง พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมให้บริษัทผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ สามารถระดมทุนผ่านการออก "หุ้นกู้เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์" (Securitized bond) โดยนำทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายทางการค้า มาเป็นหลักทรัพย์ (IP Securitization) เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งทุนสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการระดมทุนผ่านทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งสร้างระบบนิเวศตลาดทุนที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในเร็ว ๆ นี้ จะหารือกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง ก.ล.ต. มองว่าในยุคที่มีการเปลี่ยนโฉมทางเทคโนโลยี (technology disruption) ฟินเทคและสตาร์ทอัพซึ่งนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการผลิตและบริการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจให้กับลูกค้าสามารถนำนวัตกรรมซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญามาแปลงเป็นหลักทรัพย์ได้
ทั้งนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถนำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ (1) มีสิทธิเรียกร้องที่ก่อให้เกิดกระแสรายรับในอนาคตอย่างชัดเจนและพิสูจน์ได้ เช่น สิทธิและค่าเช่าสิทธิที่มีอายุสัญญาชัดเจน และ (2) จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป
สำหรับเกณฑ์การออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในปัจจุบัน ก.ล.ต. ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม และมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างครบถ้วนเพียงพอ อาทิ การเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) การจัดให้มีผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ (servicer) และตัวกลางที่ทำหน้าที่คัดเลือก วิเคราะห์ข้อมูล และเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกตราสารหนี้ (product screening) เป็นต้น