กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอร่างประกาศควบคุมผลิตสารเคมี ดันเป็นกฎหมายคุ้มครองยกระดับความปลอดภัยครอบคลุมทั้งผู้บริโภค แรงงานในโรงงาน

ข่าวทั่วไป Thursday February 20, 2020 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบาย และดำเนินการใช้หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบสถานที่ผลิต วัตถุอันตรายตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2547 นั้น เพื่อให้การผลิตและเก็บรักษาวัตถุอันตรายมีมาตรฐาน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสามและมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับ ที่ 4) พ.ศ. 2562 มาตรา 20 (2) และมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมวิชาการเกษตร จึงได้พิจารณายกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ขึ้น โดยมีสาระสำคัญของร่างประกาศ คือ กำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายต้องได้การรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมีห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตราย จากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์ และสารสกัดจากพืช สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย ที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้ว ให้ระยะเวลาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ไม่รวมถึงสถานที่ผลิตวัตถุอันตราย ที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายที่ถูกจำกัดการใช้ ซึ่งในการป้องกันอันตรายผู้ปฏิบัติงานนั้น กำหนดให้มีการตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการมี วัตถุอันตรายสะสมอยู่ในร่างกาย ถ้าผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่มีสารประกอบในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟสหรือคาร์บาเมต ต้องตรวจหาระดับซีรัมโคลีนเอสเตอเรสด้วย พร้อมจัดทำทะเบียนประวัติสุขภาพ ของผู้ปฏิบัติงานและหากตรวจพบวัตถุอันตรายสะสมในร่างกายจนถึงระดับอันตราย ต้องจัดให้ผู้นั้นได้รับการรักษาหรือไปปฏิบัติงานอื่นตามความเหมาะสม นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงผ่านทางเว็บไซต์ ของกรมระหว่างวันที่27 มกราคม 2563 ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2563 รวม 15 วัน ผลการแสดงความคิดเห็น - มีผู้ให้ความเห็น 10,258 คน - เกือบทั้งหมด 9,590 คน = 93.49% เห็นด้วย มีเพียง 668 ราย(6.51 %) ไม่เห็นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ