กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ในช่วงรอยต่อฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน หลายพื้นที่มักเกิดสภาพอากาศแปรปรวนจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ทั้งฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บตก และลมกระโชกแรง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อลดผลกระทบหากเกิดพายุฤดูร้อน ดังนี้
การเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน
- ติดตามพยากรณ์อากาศ เพื่อให้ทราบช่วงเวลาและพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อน
- หากมีประกาศเตือนภัย ให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสอบอาคารบ้านเรือน ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะประตู หน้าต่าง หลังคาบ้าน
- จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ให้มิดชิด เพื่อป้องกันสิ่งของพัดกระแทก
- ตัดแต่งกิ่งไม้และโค่นต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง เพื่อป้องกันการหักและล้มทับ
- จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบังปกคลุมผลผลิตทางการเกษตร เพื่อป้องกันความเสียหายจากลมกระโชกแรง
- หากพบเสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข
การปฏิบัติตนเมื่อเกิดพายุฤดูร้อน
- กรณีอยู่ในอาคาร
* ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันแรงลมพัดสิ่งของเข้าในบ้าน
* งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย และได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า
- กรณีอยู่กลางแจ้ง
* หลบในอาคารที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุลมแรง
* ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง อาทิ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
* ไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นโลหะหรือสื่อนำไฟฟ้า อาทิ รางรถไฟ รั้วลวดหนาม ประตูโลหะ
* ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาทิ ทองคำ ทองแดง นาก เงิน และร่มมี่มียอดโลหะ
การปฏิบัติตนหลังเกิดพายุฤดูร้อน
- ไม่เข้าใกล้บริเวณที่ได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อน เพราะอาจได้รับอันตรายจากสิ่งปลูกสร้างล้มทับหรือไฟฟ้าดูด พร้อมแจ้งหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินงานแก้ไข