กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--กระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) และนายชื่นชอบ คงอุดม ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้การต้อนรับและประชุมหารือร่วมกับคณะสภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) จำนวน 56 ราย จาก 25 บริษัทชั้นนำของสหภาพยุโรป นำโดย นาย Donald Kanak ประธาน EU-ABC ในโอกาสเยือนประเทศไทย โดยมีประเด็นหารือเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนของคณะ EU-ABC ในประเทศไทย นโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต และมาตรการของกระทรวงการคลังในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในขณะนี้ อาทิ การให้บริการด้านการเงิน ภาษีอากร เศรษฐกิจดิจิทัล และการส่งเสริมอุตสาหกรรมและลู่ทางการค้าการลงทุน เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้แทนจากหน่วยงานกระทรวงการคลังได้ชี้แจง และตอบคำถามของคณะ EU-ABC ในส่วนของนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงการคลังที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สร้างความเชื่อมั่นต่อคณะ
EU-ABC ว่า กระทรวงการคลังจะมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยมาตรการดังกล่าวจะเน้นการดูแลความเชื่อมั่น การสนับสนุนการอุปโภคบริโภค โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง รวมถึงประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ในระยะยาว รัฐบาลจะเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับฐานรากเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะยึดโยงไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พึ่งพาการส่งออกน้อยลง และให้ความสำคัญต่อการดูแลเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น โดยเน้นการเติบโตที่ทั่วถึง ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ ไม่กระจุกตัว ซึ่งจะเป็นผลดีกับภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติด้วย
นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวเชื้อเชิญคณะ EU-ABC ให้ลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว เพื่อสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งนี้ การพบปะกับกลุ่มนักธุรกิจ EU-ABC นั้น เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อพัฒนาการเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย การลดอุปสรรคการค้าการลงทุน ซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนระหว่างไทยและสหภาพยุโรปต่อไปในอนาคตด้วย