ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดท้องหลังรับประทานอาหาร หนึ่งในสัญญาณเตือนเริ่มต้นของโรค “มะเร็งกระเพาะอาหาร”

ข่าวทั่วไป Friday February 21, 2020 14:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ รู้หรือไม่ว่า "มะเร็งกระเพาะอาหาร" (Stomach Cancer หรือ Gastric Cancer) เป็นมะเร็งที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของมะเร็งที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก(GLOBOCAN) ในปี 2018 ยังระบุว่า มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งหมดทั่วโลก และยังมีอุบัติการณ์เป็นอันดับที่ 5 ของโรคมะเร็งทั้งหมดอีกด้วย แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของโรคนี้คือ อาการในระยะแรกเริ่ม ซึ่งจะดูเป็นอาการที่พบได้บ่อย ๆ และไม่รุนแรง เช่น ท้องอืด เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร เป็นต้น และเมื่อระยะของโรคมีการพัฒนามากขึ้น อาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง โดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง มีเลือดปนอุจจาระ อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลด อ่อนเพลีย หรืออาจมีลักษณะคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร ไวรัสลงกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจทำให้มองข้ามสัญญาณเตือนเหล่านี้ไป ด้วยเข้าใจว่าเป็นอาการของโรคอื่น มะเร็งกระเพาะอาหารมีหลายลักษณะ ทั้งเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในเยื่อบุกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร และมะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหรือมะเร็งจิสต์(GIST) โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียเอช.ไพโลไร (H. Pylori) ในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น การอักเสบของกระเพาะอาหารเรื้อรังจากการกินอาหารบางชนิดที่ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เช่น อาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน อาหารรสเค็ม หรืออาหารหมักดอง การสูบบุหรี่จัด หรือดื่มแอลกอฮอลล์เป็นประจำ พันธุกรรม รวมไปถึงผู้ที่เคยเป็นโรคมะเร็งที่ส่วนอื่นของร่างกายมาก่อน นอกจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา ยังมีลักษะทางกายภาพอื่นๆ ของผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่ควรระวังและหมั่นตรวจสอบร่างกาย ได้แก่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โรคนี้พบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า พบในชาวเอเชียมากกว่าชนชาติอื่นๆ และพบในผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดเอ มากกว่ากรุ๊ปอื่น ผู้ที่มีประวัติเคยผ่าตัดกระเพาะอาหารมานานกว่า 20 ปี และผู้เป็นโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (Pernicious Anemia) เป็นต้น อาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะไม่จำเพาะเจาะจงกับมะเร็งกระเพาะอาหารเสมอไป ยังมีโรคอื่นๆ ที่พบได้บ่อยกว่ามะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน เป็นต้น สำหรับการวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร จะเริ่มจากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย บางรายต้องอาศัยอาการหลายๆ อาการประกอบกัน บางรายต้องมีความต่อเนื่องในการรักษาติดตามจึงจะทราบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้นการเปลี่ยนสถานพยาบาลไปเรื่อยๆ เมื่ออาการไม่ดีขึ้น อาจส่งผลให้การวินิจฉัยล่าช้า เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยรายไหนอาจเป็นมะเร็ง จะมีวิธีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ การกลืนแป้งสารทึบแสง โดยให้ผู้ป่วยกลืนน้ำที่ผสมด้วยสารทึบแสงคล้ายแป้ง ซึ่งจะไปเคลือบหลอดอาหาร และลำไส้เล็ก ประกอบกับการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์เป็นระยะๆ เพื่อให้สามารถมองเห็นก้อนเนื้อหรือความผิดปกติอื่นๆ ได้ แต่วิธีการนี้อาจไม่เป็นที่นิยมนักเพราะไม่สามารถมองเห็นรอยโรคได้โดยตรงแต่มักจะใช้ตรวจดูการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารมากกว่า การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น เพื่อทำการตรวจประเมินรอยโรคภายในกระเพาะอาหาร วิธีการส่องกล้องนี้เป็นที่นิยมมากว่า นอกจากจะเห็นรอยโรคได้โดยตรงแล้ว ยังสามารถตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อมาพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา ตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในกระเพาะอาหาร และสามารถฉีดยาเพื่อห้ามเลือดได้ในขณะที่มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร การส่องกล้องติดอัลตราซาวนด์ เพื่อให้ทราบความลึกของมะเร็งหรือการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะใกล้เคียง การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการทำ CT scan เพื่อให้แพทย์สามารถเห็นตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรคได้อย่างละเอียด เพื่อประเมินระยะ และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธัชธรรม์ สุขสมบูรณ์เจริญ หน่วยโรคมะเร็ง ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายถึงแนวทางการรักษามะเร็งชนิดนี้ว่า "การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง เพื่อวางแผนการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพ และเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะประเมินวิธีการรักษาจากหลายปัจจัย เช่น ขนาด ตำแหน่ง ลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรคและการกระจายของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยไม่มีข้อจำกัดทางโรคประจำตัวหรือโรคร่วมที่มากเกินไป หากพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก ควรประเมินถึงการผ่าตัดออกทั้งหมด และในบางราย อาจจะมีการรักษาเสริม ไม่ว่าจะเป็นการรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) อย่างเดียว หรือเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา (Radiotherapy) แล้วแต่ความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ การรักษาเสริมเหล่านี้ เพื่อลดอุบัติการณ์การกลับมาเป็นซ้ำของโรค หากเป็นระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หรือระยะแพร่กระจาย และยังมีสุขภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี การรักษามะเร็งระยะนี้สามารถใช้ยาเคมีบำบัด(Chemotherapy) โดยอาจให้ร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) หรือยายับยั้งการสร้างหลอดเลือด ( Anti-angiogenesis) รวมถึงการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเป็นการใช้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งระบบควบคุมและสั่งการให้มีการทำลายเซลล์แปลกปลอมหรือหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย (Immune Checkpoint) เพราะบางกรณีเซลล์มะเร็งจะอาศัยระบบนี้ในการซ่อนตัวจากการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยากลุ่มนี้จึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันตรวจจับเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดผลข้างเคียงได้มากขึ้นอีกด้วย ปัจจุบันนวัตกรรมทางการแพทย์พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก ผู้ป่วยจึงมีตัวเลือกในการรักษามะเร็งที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ผลการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรค และลดโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำ สิ่งสำคัญที่สุดคือ รีบปรึกษาแพทย์หากพบว่าคุณหรือคนใกล้ตัวมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคและหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป" เนื่องจากปัจจุบันเรายังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร จึงทำให้ยังไม่สามารถหาแนวทางป้องกันที่เป็นรูปธรรมได้ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยลดโอกาสและความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายนี้ได้ นั่นคือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ เพื่อช่วยเพิ่มเส้นใยอาหารและวิตามินให้กับร่างกาย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทหมักดอง อาหารรมควัน อาหารปิ้งย่าง และอาหารที่มีรสเค็ม เพราะอาหารดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และทำให้เกิดมะเร็งได้ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และสำหรับเพศชายที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้อง เพราะมะเร็งกระเพาะอาหารสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ