กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้และพื้นที่สีเขียวในเมือง จึงได้จัดทำโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ขึ้น โดยเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคีเครือข่าย ร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ได้ตามเป้าหมายภายในปี พ.ศ.2573 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562 ณ สวนวชิรเบญจทัศ โดยมีพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวได้ เช่น ที่ดินว่าง ที่ว่างใต้ทางด่วน ที่ว่างริมน้ำ ที่ว่างริมทางรถไฟ ที่ว่างริมทางเท้า รวมถึงการปลูกต้นไม้บริเวณเสาตอม่อรถไฟฟ้า ซึ่งจะต้องเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม เช่น ต้นข่อย ไทรอังกฤษ ลิ้นมังกร ซุ้มกระต่าย หมากเหลือง คลอเดีย เนื่องจากสามารถเติบโตโดยไม่บดบัดทัศนวิสัยของผู้ใช้รถใช้ถนน สามารถคลุมพื้นที่ปรับภูมิทัศน์และลดฝุ่นละอองในอากาศได้ดี นอกจากนี้ ยังมีการปลูกต้นไม้ที่สามารถจับฝุ่นได้ดีตามผลการศึกษาของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้แก่ กระดุมทอง คล้านางพิมพ์ เศรษฐีเรือนนอก เฟิร์น เพิ่มเติมอีกด้วย
สำหรับความคืบหน้าการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะของกทม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ โครงการ สวนอยู่เย็นเป็นสุข เขตลาดพร้าว พื้นที่ 10 ไร่ และโครงการสวนจากภูผาสู่มหานที เขตจตุจักร พื้นที่ 26 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่นำร่องในโครงการ Green Bangkok จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ สวนสันติพร เขตพระนคร พื้นที่ 2.5 ไร่ ซอยวิภาวี 18 แยก 3 เขตจตุจักร พื้นที่ 2 ไร่ สวนปิยะภิรมย์ เขตบางกะปิ พื้นที่ 10 ไร่ สวนบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน พื้นที่ 37 ไร่ สวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับร่มเกล้า-เจ้าคุณทหาร เขตลาดกระบัง พื้นที่ 18 ไร่ พื้นที่ในซอยหน้าวัดหัวลำโพง เขตบางรัก พื้นที่ 0.5 ไร่ พื้นที่ใต้ทางด่วน ปรีดี พนมยงค์ 2 เขตวัฒนา พื้นที่ 1.9 ไร่ พื้นที่ใต้ทางด่วนสถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน เขตบางซื่อ พื้นที่ 6.25 ไร่ ที่ทำการ ปตท.สำนักงานใหญ่ เขตจตุจักร พื้นที่ 5 ไร่ พื้นที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ พื้นที่ 20 ไร่ และถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร จำนวน 5 ไร่ ซึ่งหากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มประมาณ 108 ไร่
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการตัดแต่งและดูแลรักษาต้นไม้ กทม. ร่วมกับกรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายต้นไม้ในเมืองกลุ่ม Big Trees Project สมาคมรุกขกรรมไทย และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพ การตัดแต่งต้นไม้ในเมืองให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการตัดแต่งต้นไม้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 61 - 62 จัดอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว จำนวน 205 คน และในปี 63 มีแผนที่จะฝึกอบรมด้านรุกขกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการตัดแต่งต้นไม้ของสวนสาธารณะและสำนักงานเขตเพิ่มเติมอีก จำนวน 410 คน แบ่งเป็นฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพการตัดแต่งต้นไม้ในเมืองให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการตัดแต่งต้นไม้ของสวนสาธารณะและสำนักงานเขต จำนวน 350 คน ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการฝึกสอนรุกขกรรมขั้นต้น จำนวน 30 คน และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการฝึกสอนรุกขกรรมขั้นสูง จำนวน 30 คน